คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1512/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาทแทนจำเลยร่วมและเป็นผู้ว่าจ้างต่อเติมผนังตึกแถวพิพาทแทนจำเลยร่วมด้วย ดังนั้นการจ้างช่างมาต่อเติมอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์จึงกระทำโดยจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน มิใช่ผู้อื่นเป็นผู้สร้าง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมได้รู้ว่าได้สร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์จึงต้องถือว่า จำเลยร่วมสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่งโจทก์ไม่มีอำนาจให้จำเลยร่วมรื้อถอนผนังตึก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองตึกแถว 2ชั้น เลขที่ 172 ได้ต่อเติมอาคารด้านหลังตึกแถวของจำเลยบุกรุกเข้ามาในที่ดินซึ่งมีตึกแถวเลขที่ 170 ของโจทก์ เป็นเนื้อที่ประมาณ0-0-003/10 ไร่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์สามารถใช้ที่ดินดังกล่าวขายสินค้ามีรายได้อย่างต่ำวันละ 200 บาทขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับใช้ค่าเสียหายวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปเป็นที่เรียบร้อยให้แก่โจทก์
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกนายจีรศักดิ์ แซ่เบ๊หรือพรตปกรณ์ เข้าเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของโจทก์
จำเลยและจำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกันว่า บ้านเลขที่ 172 กับบ้านเลขที่ 170 ต่างเป็นตึกแถว 3 ชั้นครึ่ง ซึ่งปลูกสร้างติดกันเป็นแนวต่อเนื่องกับตึกแถวคูหาอื่นอีกประมาณ 30 คูหา ตึกแถวเลขที่ 170ของโจทก์เป็นห้องริมสุดผนังด้านหนึ่งปลูกสร้างชิดแนวทางเดินส่วนผนังอีกด้านหนึ่งใช้ร่วมกับตึกแถวเลขที่ 172 เดิมจำเลยเช่าบ้านเลขที่ 172 ส่วนบิดาหรือมารดาโจทก์ทั้งสองเช่าบ้านเลขที่ 170 จากนายอนันต์ตามลำดับ และมีผู้เช่ารายอื่น ๆ อีกประมาณ 30 รายเช่าตึกแถวที่เหลือจากนายอนันต์ เมื่อนายอนันต์ถึงแก่กรรมแล้วนางองุ่น ภู่ชอุ่ม ผู้จัดการมรดกของนายอนันต์ตกลงขายตึกแถวและที่ดินที่ตั้งตึกแถวแต่ละคูหาให้แก่ผู้เช่าแต่ละราย จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุตรชายของจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายตึกแถวเลขที่ 172 จากนางองุ่น ในการนี้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างนางองุ่นกับผู้จะซื้อทั้งหมด ว่าผู้จะซื้อตึกแถวทั้งหมดตกลงร่วมกันว่าจ้างผู้มีชื่อให้ก่อสร้างต่อเติมอาคารส่วนหลังของแต่ละคูหาจนชิดแนวเขตที่ดินแต่ละโฉนด ซึ่งการก่อสร้างได้กระทำและแล้วเสร็จในช่วง พ.ศ. 2526ในระหว่างการก่อสร้างบิดามารดาโจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมตลอดจนผู้จะซื้อรายอื่น ๆ ไม่เคยทราบว่าได้มีการก่อสร้างฝาผนังล้ำแนวเขตที่ดินของผู้ใด ทั้งไม่มีการทักท้วงจากโจทก์ทั้งสองหรือผู้ใดเช่นนั้น หากฟังว่าเป็นการก่อสร้างผนังตึกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับให้จำเลยและจำเลยร่วมรื้อถอนผนังตึกส่วนที่รุกล้ำได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีใหม่เรียกค่าใช้ที่ดินภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยร่วมฎีกาว่าการต่อเติมผนังตึกด้านหลังตึกแถวพิพาทไม่ใช่เป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเพราะการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำต้องเป็นกรณีที่ผู้ปลูกสร้างได้ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน แต่การต่อเติมผนังตึกแถวพิพาทได้กระทำโดยได้รับความยินยอมจากนางองุ่นเจ้าของที่ดินและโจทก์ทั้งสองก็มีส่วนรับรู้เพราะการว่าจ้างให้ต่อเติมผนังตึกแถวพิพาท โจทก์ทั้งสองกับมารดาร่วมกับจำเลยและผู้เช่ารายอื่น ๆได้ว่าจ้างช่างให้ต่อเติม การต่อเติมตึกแถวพิพาทได้กระทำโดยความยินยอมและโดยความตกลงของทุกฝ่าย กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ จะนำบทบัญญัติมาตรา 1312 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้นั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2525 และได้ชำระเงินในชื่อของจำเลยร่วมเป็นงวด ๆ เสร็จเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2526ตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 ซึ่งความข้อนี้จำเลยเบิกความว่าเมื่อจำเลยตกลงซื้อแล้วจึงให้จำเลยร่วมรับโอนกรรมสิทธิ์ไปพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายแทนจำเลยร่วมปรากฏว่าได้มีการจ้างช่างมาต่อเติมอาคารเมื่อปี 2526 โดยโจทก์ทั้งสองกับมารดาร่วมกับจำเลยและผู้อยู่ในตึกแถวรายอื่น ๆ ทั้งนี้โดยนางองุ่นได้ให้ความยินยอมแล้ว ซึ่งในส่วนของจำเลยร่วมนั้นเมื่อจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายแทนจำเลยร่วมก็เชื่อว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างแทนจำเลยร่วมด้วย ดังนั้น การจ้างช่างมาต่อเติมอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงกระทำหลังจากที่จำเลยร่วมเป็นผู้จะซื้อขายที่ดินและอาคารแล้ว โดยจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่ปลูกสร้างเป็นผู้จ้างช่างมาสร้างอาคารรุกล้ำเองมิใช่ผู้อื่นเป็นผู้สร้างอาคารที่รุกล้ำแล้วโอนให้จำเลยร่วม และการที่โจทก์ทั้งสองกับมารดาและจำเลยร่วมดำเนินการปลูกสร้างด้วยกันดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมได้รู้ว่าได้สร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์ทั้งสอง จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยสุจริต กรณีจึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง จำเลยร่วมจึงเป็นเจ้าของโรงเรือน คือผนังตึกที่สร้างขึ้นนั้น โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจให้จำเลยร่วมรื้อถอนผนังตึกได้ คงมีสิทธิที่จะเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยร่วมใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองต่อไปแต่โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอให้บังคับเช่นนั้น ได้แต่ฟ้องขอให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายวันจนกว่าจำเลยร่วมจะรื้อผนังตึกออกไป ซึ่งศาลไม่อาจบังคับให้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share