แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 วางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทห้าหมื่นบาท แต่โทษฐานทำไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525มาตรา 4 วางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท โทษจำคุกที่จำเลยทั้งแปดจะได้รับตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ดังกล่าวสูงถึงยี่สิบปีจึงเป็นโทษ ที่หนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งมีโทษขั้นสูงเพียงสิบห้าปี โดยไม่ต้องคำนึงว่าโทษขั้นต่ำ ของกฎหมายใดจะสูงกว่ากัน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดฐานแผ้วถางป่าและทำไม้หวงห้าม โดยไม่รับอนุญาต แต่ให้ลงโทษฐานแผ้วถางป่าตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จึงไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความ ฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ และเมื่อศาลฎีกา เห็นอีกว่า ที่ศาลล่างลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ในข้อหาดังกล่าวคนละ 8 ปีนั้นหนักเกินไปก็กำหนดโทษ ให้น้อยลงอีกได้ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ที่มิได้ฎีกาได้ด้วยเพราะ เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 สำหรับข้อหามีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งแปดคนละ 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งแปดคนละ 4 ปี เช่นเดิม แม้ข้อหาดังกล่าวนี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นหนักเกินไป ก็มีอำนาจแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ และสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไข กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2488 มาตรา 69,72 ตรีโดยไม่ระบุวรรค ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยระบุวรรคให้ถูกต้องได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ร่วมกันเข้าไปยึดถือแผ้วถางครอบครองที่ดินทำไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้นางปรน ไม้สาเกไม้อื่นขนาดเล็กและไม้ไผ่ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยตัดฟันโค่น ลิด เลื่อยออกจากต้นแล้วทอนเป็นท่อน ๆ รวมเป็นไม้ 45 ต้นปริมาตร 57.35 ลูกบาศก์เมตร ไม้ขนาดเล็ก จำนวน 200 ต้นและไม้ไผ่ทั่วไปไม่ปรากฏปริมาตร อันเป็นการทำลายป่าและกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตและมิได้รับสัมปทานหรือได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมายให้ทำไม้ดังกล่าว และได้ร่วมกันมีไม้ซึ่งยังมิได้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามจำนวนและปริมาตรดังกล่าวไว้ในครอบครองไม้เหล่านั้นไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม้ดังกล่าวได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยร่วมกันมีอาวุธปืนเป็นปืนมีทะเบียนและไม่มีทะเบียนรวม 4 กระบอก กระสุนปืนขนาดต่าง ๆ รวม 38 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2488 มาตรา 11, 54, 69, 72 ตรี,73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91ให้ริบของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดตามฟ้องการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษฐานแผ้วถางป่าและทำไม้หวงห้ามลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติมาตรา 31 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกคนละ 8 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 2มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 7 ทวิ วรรคแรก,72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะจำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เหลือจำคุก 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1, ที่ 3 ที่ 4, ที่ 5,ที่ 6, ที่ 7, ที่ 8 ไว้คนละ 12 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้12 ปี 8 เดือน ริบของกลางตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.18ยกเว้นเฉพาะรายการที่ 9, 11 และ 12 ให้คืนและให้จำเลย คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารจำเลยออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งแปดอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 69 วรรคสอง, 72 ตรี วรรคสอง และริบไม้ของกลางนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2, จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 วางโทษจำคุกตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่โทษฐานทำไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525มาตรา 4 วางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท โทษจำคุกที่จำเลยทั้งแปดจะได้รับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ดังกล่าวสูงถึงยี่สิบปีจึงเป็นโทษที่หนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวซึ่งมีโทษขั้นสูงเพียงสิบห้าปี โดยไม่ต้องคำนึงว่าโทษขั้นต่ำของกฎหมายใดจะสูงกว่ากัน การที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษาว่าจำเลยทั้งแปดมีความผิดฐานแผ้วถางป่าและทำไม้หวงห้ามโดยไม่รับอนุญาตแต่ให้ลงโทษฐานแผ้วถางป่าตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียถูกต้องได้ และศาลฎีกาเห็นอีกว่า ที่ศาลล่างลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ในข้อหาดังกล่าวคนละ 8 ปีนั้น หนักเกินไปก็กำหนดโทษให้น้อยลงอีกได้ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 5ที่มิได้ฎีกาได้ด้วยเพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 สำหรับข้อหามีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งแปดคนละ 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งแปดคนละ 4 ปี เช่นเดิม แม้ข้อหาดังกล่าวนี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3กำหนดมานั้นหนักเกินไปก็มีอำนาจแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมได้และสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไขกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69, 72 ตรี โดยไม่ระบุวรรค ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยระบุวรรคให้ถูกต้องได้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง, 72 ตรี วรรคสอง ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายจำคุกจำเลยทั้งแปดคนละ 2 ปี และสำหรับความผิดฐานแผ้วถางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติและฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตร 11, 73 วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุกคนละ 2 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีไม้หวงห้ามมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองและฐานมีกับพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายที่ศาลล่างพิพากษาไว้แล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยนอกนั้นให้จำคุกคนละ 4 ปีนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3