แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 แบ่งสัตว์ไว้เป็น 2 พวกคำว่า ‘สัตว์ร้ายหมายความว่าโดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองเป็นสัตว์ที่มีนิสัยทั้งดุและร้ายกาจเป็นปกติอยู่ในตัวและเป็นสัตว์ที่เป็นภัยอันตรายอันน่าสพึงกลัวต่อบุคคลผู้ได้พบเห็นเช่นเสือจรเข้ หรืองูพิษเป็นต้นส่วนคำว่า ‘สัตว์ดุ’ หมายความว่า โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองมิใช่สัตว์ร้าย แต่อาจเป็นสัตว์ดุซึ่งเจ้าของจะต้องมีการควบคุมดูแลเป็นพิเศษผิดจากปกติธรรมดา โดยล่ามโซ่หรือขังกรงไว้ เช่น สุนัข เป็นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีสุนัขดุ 2 ตัว ได้บังอาจปล่อยปละละเลยให้สุนัข 2 ตัวนั้นไปกัดลูกสุกรของนายสงวน ทรัพย์มั่งมี ตาย 1 ตัวราคา 150 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สุนัขซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงไม่เป็นสัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 สืบพยานไปก็ฟังเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 แบ่งสัตว์ไว้เป็น 2 จำพวก คำว่า “สัตว์ร้าย” หมายความว่าโดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองเป็นสัตว์ที่มีนิสัยเป็นทั้งดุและร้ายกาจเป็นปกติอยู่ในตัวและเป็นสัตว์ที่เป็นภัยอันตรายอันน่าสพึงกลัวต่อบุคคลผู้ได้พบเห็น เช่น เสือ จรเข้ หรืองูพิษเป็นต้น ส่วนคำว่า “สัตว์ดุ”หมายความว่า โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองมิใช่สัตว์ร้ายแต่อาจเป็นสัตว์ดุซึ่งเจ้าของจะต้องมีการควบคุมดูแลเป็นพิเศษผิดจากปกติธรรมดาโดยล่ามโซ่หรือขังกรงไว้ เช่น สุนัขที่ดุ เป็นต้น มิฉะนั้นถ้าปล่อยปละละเลยแล้วก็อาจไปทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่นได้ สัตว์จำพวกนี้จึงเข้าความหมายเป็นสัตว์ดุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ตามที่โจทก์อ้าง พิพากษายืน