แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทำร้ายกันในขณะทำการวิวาทยังไม่ขาดตอน ต้องถือว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน กรณีวิวาทกันผู้ที่วิวาทกันไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นโจทก์ฟ้องไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249,60 ให้จำคุก 10 ปี ลดตามมาตรา 59 เสีย 1 ใน3 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยทำผิดโดยถูกยั่วโทสะ จึงแก้ให้ลดโทษตามมาตรา 55 กึ่งหนึ่ง เช่นนี้เป็นการแก้มาก คู่ความย่อมฎีกาในข้อเท็จจริงได้
คดีที่ศาลพิจารณารวมกัน มีอุทธรณ์ขึ้นมาเฉพาะคดีเดียวคู่ความในคดีที่ไม่ได้อุทธรณ์ จะมาฎีกาในชั้นฎีกาไม่ได้ เพราะคดีนั้นถึงที่สุดแล้ว
คดีที่มีการพิจารณารวมกันศาลลงโทษบทหนักตามฟ้องคดีหนึ่งมีอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาเฉพาะคดีที่ศาลลงโทษบทหนักนี้คดีที่ไม่มีอุทธรณ์ฎีกาก็เป็นอันยุติ เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดในคดีที่ฎีกาขึ้นมา ศาลก็พิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยไป
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ สำนวนแรกนายตี๋หรือตี๊เป็นโจทก์ฟ้องนายแก้วนายเอนกเป็นจำเลยหาว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันใช้ปืนยิงนายตี๋บาดเจ็บสาหัสโดยเจตนา แต่มีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางเสีย นายตี๋จึงไม่ตายขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249, 60, 63, 65 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 254, 338(3) ด้วย
นายแก้วจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าป้องกันตัว
นายเอนกจำเลยที่ 2 ปฏิเสธ
สำนวนที่ 2 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องภายหลังศาลประทับฟ้องของโจทก์สำนวนแรกกล่าวว่านายปรีชาจำเลยที่ 1 นายตี๋จำเลยที่ 2 วิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันมีบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 254
นายตี๋จำเลยที่ 2 ปฏิเสธต่อสู้ว่าได้ถูกนายปรีชายิงเอาฝ่ายเดียว
นายปรีชาจำเลยที่ 1 ชั้นแรกให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังกลับให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงดังฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นแยกทำการพิจารณาแต่ละสำนวน เมื่อเสร็จการพิจารณาแล้วได้ทำคำพิพากษารวมกันทั้งสองสำนวน ฟังข้อเท็จจริงว่า นายแก้วนายตี๋วิวาทกันและการที่นายแก้วใช้ปืนยิงนายตี๋ อันเกิดจากการวิวาทจะอ้างว่าทำการป้องกันตัวไม่ได้ พิพากษาว่านายแก้วจำเลยมีความผิดตามฟ้องทั้งสองสำนวนตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249, 60, 254, 338(1) และมาตรา 254 ส่วนนายตี๋มีความผิดตามมาตรา 254(สำนวนที่ 2) ให้วางโทษนายแก้วจำเลยรวมกันไป คือวางบทหนักตามมาตรา 247 และ 60 บทเดียวให้จำคุก 10 ปี ลดโทษปรานีตามมาตรา 59 ให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ 6 ปี 8 เดือน ให้จำคุกนายตี๋จำเลย 1 เดือน ปรับ 200 บาท ยกโทษจำคุกให้นายตี๋ตามมาตรา 40 คงปรับสถานเดียว และริบปืนของกลาง ส่วนนายเอนกจำเลยไม่ได้ความว่าสมคบกับนายแก้วกระทำผิด ให้ยกฟ้องนายตี๋โจทก์ปล่อยนายเอนกจำเลย
นายแก้วจำเลยสำนวนแรกสำนวนเดียวอุทธรณ์ต่อมา นอกนั้นไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลดโทษนายแก้วตามมาตรา 55ให้กึ่งหนึ่งและลดปรานีให้อีก 1 ใน 3 คงจำคุกนายแก้วจำเลย 3 ปี4 เดือน แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ทำเป็นคำพิพากษารวมกันทั้งสองสำนวนในคำพิพากษาฉบับเดียวกัน
นายแก้วจำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
นายตี๋โจทก์ฎีกา ในข้อเท็จจริงว่า ศาลอุทธรณ์ลดโทษฐานยั่วโทสะตามมาตรา 55 ให้จำเลยกึ่งหนึ่งนั้น เป็นการแก้มากโจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่นายตี๋โจทก์และนายแก้วจำเลยฎีกาในสำนวนที่ 2 ซึ่งตนต่างถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้นฎีกาไม่ได้เพราะคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว โดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมาเลย
ส่วนฎีกาของนายแก้วจำเลยและนายตี๋โจทก์ในสำนวนแรกนั้นเห็นว่า นายแก้วมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249, 60 ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี ลดโทษตามมาตรา 59 เสีย 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน แต่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทำผิดโดยถูกยั่วโทสะด้วย จึงแก้ให้ลดโทษให้จำเลยตามมาตรา 55 กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุกจำเลย 3 ปี 8 เดือน เช่นนี้เป็นการแก้มาก คู่ความย่อมฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และฟังว่าจำเลยทั้งสองได้วิวาทกันและนายแก้วจำเลยใช้ปืนพกยิงนายตี๋ 2 นัดในเวลากระชั้นชิด ขณะการวิวาทต่อสู้ยังไม่ขาดตอนจากกัน เมื่อนายแก้วจำเลยใช้ปืนยิงโจทก์เนื่องในการที่โจทก์จำเลยวิวาทกันนี้ ตามข้อกฎหมายโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามที่จำเลยฎีกาโต้เถียงขึ้นมา โจทก์จึงไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้องของนายตี๋โจทก์ และยกฎีกาโจทก์เสียด้วย