คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15064/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และงานก่อสร้างทุกชนิด ฟ้องเรียกร้องให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าจ้างส่วนที่ค้างชำระตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ส่งช่างพ่นสีและช่างพ่นทรายพร้อมอุปกรณ์ไปทำงานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทินที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นค่าแรงงาน ค่าเช่าอุปกรณ์ และค่าทำงานล่วงเวลาของคนงานโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าการงานที่ได้ทำ และงานที่ได้ทำก็เพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) หาใช่อายุความ 2 ปีไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปีนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 451,813.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 398,050 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 418,050 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 398,050 บาท ตามที่โจทก์ขอนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์มีอายุความเท่าไร และขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง …” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (1)…(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” คดีนี้โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างและงานก่อสร้างทุกชนิด ฟ้องเรียกร้องให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าจ้างส่วนที่ค้างชำระตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ส่งช่างพ่นสีและช่างพ่นทรายพร้อมอุปกรณ์ไปทำงานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทินที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นค่าแรงงาน ค่าเช่าอุปกรณ์ และค่าทำงานล่วงเวลาของคนงานโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าการงานที่ได้ทำ และงานที่ได้ทำก็เพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) หาใช่อายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปีนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 1 ปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share