แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทและบุตรของผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่เรื่อยมาเพียงผู้เดียวกระทั่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ทายาทคนหนึ่งคนใดครอบครองทรัพย์มรดกเพียงผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจนจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น และภายหลังเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านก็ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทและไม่เคยร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านเพิ่งมาขอแบ่งทรัพย์มรดกหลังผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเกิน 1 ปี ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกจึงต้องห้ามตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของผู้ร้องโดยสมบูรณ์ และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเกือบ 3 ปี โดยมิได้ระบุในคำร้องว่าจะนำที่ดินพิพาทมาแบ่งปันแก่ทายาทก็เป็นเพียงการที่ผู้ร้องดำเนินการให้ตนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนได้เท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นที่สิ้นสิทธิในการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกโดยอายุความไปแล้วตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่กล่าวข้างต้นจึงมิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและแทนผู้คัดค้านที่สิ้นสิทธิในการรับมรดกโดยอายุความไปแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะยื่นคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเสนาะ ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนนางเรณูออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเสนาะ เจ้ามรดก และตั้งนางประพิณ ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายเสนาะแทน ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเสนาะ ผู้ตายและนางจวง ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2516 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน คือ นางดารา นางปราณีซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วและนางจำนอง ปรากฏตามบัญชีเครือญาติ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2544 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินรวม 3 แปลง โดยมีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินตามเอกสารหมาย ค.5 อีก 1 หลัง วันที่ 31 พฤษภาคม 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย วันที่ 31 พฤษภาคม 2547 และวันที่ 22 ตุลาคม 2547 ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินตามเอกสารหมาย ค.3 และ ค.4 เป็นของผู้ร้องในฐานะส่วนตัว วันที่ 16 ธันวาคม 2547 ผู้ร้องในฐานะส่วนตัวได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามเอกสารหมาย ค.3 ไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ร้องครอบครองทำกินที่ดินพิพาท 29 ไร่ ซึ่งก็คือที่ดินตามเอกสารหมาย ค.3 ตั้งแต่ผู้ตายมีชีวิตตลอดมา และเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ร้องก็ครอบครองทำกินแต่ผู้เดียว ส่วนนางจำลองก็ครอบครองที่ดินพิพาท 8 ไร่ ซึ่งก็คือที่ดินตามเอกสารหมาย ค.4 กับครอบครองที่ดินพิพาทที่ปลูกบ้านพักอาศัย ซึ่งคือที่ดินเอกสารหมาย ค.5 ตั้งแต่ผู้ตายมีชีวิต และเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ครอบครองที่ดินแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน โดยผู้คัดค้านและญาติพี่น้องคนอื่นไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ดังนั้น การครอบครองที่ดินดังกล่าวของผู้ร้องและนางจำลองหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแต่ผู้เดียว และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจนจะถือว่าครอบครองแทนทายาทคนอื่น เช่นนี้จะถือว่าผู้ร้องและนางจำลองครอบครองที่ดินแทนทายาทอื่นหาได้ไม่ นอกจากนี้หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านซึ่งไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกดังวินิจฉัยข้างต้นก็ไม่เคยเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดกคือภายใน 1 ปี นับแต่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง เพิ่งจะมาร้องขอให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกหลังจากผู้ร้องได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องและนางจำลองแบ่งมรดกจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น สิทธิในที่ดินพิพาททั้งสามแปลงพร้อมบ้านพักอาศัยอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายย่อมตกแก่ผู้ร้องและนางจำลองโดยสมบูรณ์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2544 เกือบ 3 ปี โดยมิได้ระบุในคำร้องเลยว่าจะนำที่ดินสามแปลงมาแบ่งปันให้แก่ทายาทอื่น โดยมีเฉพาะนางจำลองเท่านั้นที่ลงชื่อให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก จึงเห็นได้ว่าเป็นการร้องขอเพื่อที่จะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่น ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แล้วไม่ นอกจากนี้การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้องถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องและนางจำลองครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านกับทายาทอื่นผู้เสียสิทธิในการรับมรดกโดยอายุความดังกล่าวข้างต้น ผู้คัดค้านย่อมไม่อาจยกเอาประโยชน์แห่งมาตรา 1748 มาเพื่อเรียกร้องให้ผู้ร้องและนางจำลองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านเสียไปซึ่งสิทธิในการรับมรดกตามมาตรา 1599 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1754 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะยื่นคำคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ