คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1503/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคนไข้นอกจากบัญชีเงินฝากของโรงพยาบาลซึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินแล้วเบียดบังไปดังที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง แต่จำเลยเบียดบังเงินสดอันเป็นรายได้ของโรงพยาบาลที่ได้รับมาในวันเกิดเหตุซึ่งไม่ใช่เงินที่เบิกมาจากเงินงบประมาณแผ่นดินของโรงพยาบาลเงินที่จำเลยเบียดบังไปเป็นเงินคนละจำนวนกับที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกไปข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 และให้จำเลยคืนเงินที่ยักยอกไปแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุก 5 ปี และให้จำเลยคืนเงิน 71,150 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นหัวหน้างานการเงินของโรงพยาบาล ตำรวจมีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับจ่ายเงินของโรงพยาบาลตราด และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตราดเจ็บป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตราดในฐานะผู้ป่วยคนไข้นอกเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ต้องชำระเงินค่ารักษาพยาบาล แต่ต้องลงชื่อในใบเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล(แบบ บก.-ชล.3) ไว้ในฐานะเป็นผู้เบิกเงินและผู้รับเงินค่ารักษาพยาบาล หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตราดจะรวบรวมใบเบิกเงินดังกล่าวทำเป็นรายการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลแบบ บก.-ชล.4 แล้วทำฎีกาขอเบิกเงินจากคลังจังหวัด เมื่อคลังจังหวัดอนุมัติจ่ายเงินตามฎีกานั้นจะโอนเงินจากคลังจังหวัดเข้าบัญชีเงินฝากบัญชีเลขที่ 889 ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาตราด ซึ่งเป็นบัญชีเงินงบประมาณของโรงพยาบาลตราด และโดยที่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตราดที่เป็นผู้ป่วยคนไข้นอกของโรงพยาบาลตราดไม่ได้ชำระเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลตราดเงินดังกล่าวจึงไม่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตราดตามรายการที่ขอเบิกไว้ แต่จะเบิกเงินจากบัญชีเลขที่ 889 โอนเข้าบัญชีเลขที่ 890 ที่ธนาคารกรุงไทยจำกัดสาขาตราด ซึ่งเป็นบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาลตราดต่อไปตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคนไข้นอกดังกล่าวของโรงพยาบาลตราดจำนวน 71,150 บาท ขาดหายไปจากบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาลตราดที่ธนาคารกรุงไทยจำกัดสาขาตราด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคนไข้นอกของโรงพยาบาลตราดจำนวน 71,150 บาท หรือไม่พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยได้นำเช็คเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคนไข้นอกออกจากบัญชีเลขที่ 889 ที่ธนาคารกรุงไทยจำกัดสาขาตราด ซึ่งเป็นบัญชีเงินงบประมาณของโรงพยาบาลตราดไปเข้าบัญชีเลขที่ 890 ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาตราดซึ่งเป็นบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาลตราดและเรียกเก็บเงินตามเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเลขที่ 890 ได้เรียบร้อยในวันที่ 31 สิงหาคม2537 แล้ว จำเลยจึงไม่ได้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคนไข้นอกจำนวน 71,150 บาท จากบัญชีเงินฝากของโรงพยาบาลตราดแล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวของโรงพยาบาลตราดไปจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์สินตามฟ้อง และแม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามคำเบิกความของนายบุญต่อและร้อยตำรวจเอกสุวิทย์พยานโจทก์ดังกล่าวว่าจำเลยนำเงินสดซึ่งเป็นเงินรายได้ของโรงพยาบาลตราดที่ได้รับมาในวันที่ 31 สิงหาคม 2527 ที่ไม่ใช่เงินที่เบิกมาจากเงินงบประมาณแผ่นดินของโรงพยาบาลตราดจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคนไข้นอกที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตราดที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลตราดตามฎีกาเลขที่ 266 ถึง 272 กับฎีกาเลขที่ 284 ถึง 285 เอกสารหมาย จ.46ถึง จ.54 อีกครั้งหนึ่ง แล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยทุจริตแต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคนไข้นอกจากบัญชีเงินฝากของโรงพยาบาลตราดจำนวน 71,150 บาท แล้วจำเลยเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยทุจริต ดังนั้นเมื่อเงินจำนวน71,150 บาท ที่จำเลยเบียดบังไปจากเงินสดซึ่งเป็นเงินรายได้ของโรงพยาบาลตราดที่ได้รับมา ไม่ใช่เงินที่เบิกมาจากเงินงบประมาณแผ่นดินของโรงพยาบาลตราด เป็นเงินคนละจำนวนกับเงินจำนวนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกไป ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
พิพากษายืน

Share