คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1503/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่าง อื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา164นายจ้างจะกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้อง เงินบำเหน็จให้น้อยกว่า 10 ปีหาได้ไม่ ต้องห้ามตามมาตรา 191
ตามข้อบังคับนายจ้างจะจ่ายเงินบำเหน็จ เมื่อลูกจ้างยื่นคำร้องขอรับดังนี้ เมื่อลูกจ้างขอรับแล้วนายจ้างปฏิเสธ ถือว่านายจ้างผิดนัดนับแต่วันที่ลูกจ้างขอรับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ วันที่ 23 มีนาคม 2525โจทก์ลาออกจากงาน โจทก์มีสิทธิได้เงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยแต่จำเลยไม่จ่าย ขอศาลบังคับให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ลาออกจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ตามข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จภายใน 120 วัน นับจากวันออกจากงาน มิฉะนั้นเป็นอันหมดสิทธิโจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จเกินกำหนดดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกเงินบำเหน็จนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จำเลยจะกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จให้น้อยกว่า 10 ปี หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 191โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี จำเลยจะยกข้อบังคับของจำเลยขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์หาได้ไม่ ตามข้อบังคับของจำเลยจำเลยจะจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ต่อเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จจากจำเลยเมื่อวันที่ 29กันยายน 2525 และจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share