คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15025/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ร่วมกับบริษัท ว. ตัวการซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการทำสัญญาจ้างกับโจทก์ การที่จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างดังกล่าวกับนายจ้างผู้เป็นตัวการโดยจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างด้วยตนเองแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการ ก็เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะหลีกเลี่ยงวิธีปฏิบัติตามขั้นตอนของผู้จัดหางานที่จะต้องตรวจสอบและลงนามในสัญญาจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแต่โดยลำพังแม้ชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
จำเลยกำหนดให้โจทก์เดินทางไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 20 เมษายน 2551 แต่จำเลยขอเลื่อนกำหนดไปในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ก่อนถึงกำหนดนัดพนักงานของจำเลยสั่งให้โจทก์เตรียมเงิน 15,000 บาท เพื่อเป็นค่าบริการแก่จำเลย โจทก์แจ้งว่าจะจ่ายให้หลังจากไปทำงานและได้รับเงินเดือนแล้ว วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 โจทก์ยังไปที่บริษัทจำเลยและตรวจสอบเอกสารการเดินทางและการเข้าเมือง จึงพบว่าเอกสารระบุเพศไม่ตรงกับเพศของโจทก์ โจทก์จึงเดินทางกลับบ้านมิได้เดินทางไปที่สนามบิน เห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมเสียค่าบริการให้แก่จำเลยเพียงแต่ขอผัดใช้ให้หลังจากเดินทางไปทำงานกับนายจ้างและได้รับเงินเดือนแล้วเท่านั้น เมื่อถึงวันนัดโจทก์ก็เดินทางไปที่บริษัทจำเลยตามกำหนด แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอาเหตุที่จำเลยเรียกค่าบริการมาเป็นเหตุว่าจำเลยผิดสัญญาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง การที่ระบุเพศผิดพลาดโจทก์ก็หาได้เรียกให้จำเลยจัดการเสียให้ถูกต้องเสียก่อนซึ่งหากจำเลยมิได้ดำเนินการให้ก็จะถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา แต่โจทก์กลับเดินทางกลับบ้าน มิได้ไปที่สนามบิน ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะไม่เดินทางไปเมืองดูไบตามสัญญาจ้างเอง ไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจำนวน 785,122.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์จัดหาคนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2551 บริษัทในต่างประเทศแจ้งจำเลยว่าต้องการพนักงานฝ่ายบุคคลเพื่อไปทำงานที่บริษัทวีเอฟอาร์ จ้อยเวนเจอร์ จำกัด ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำเลยจึงประกาศรับสมัครโดยโจทก์เป็นผู้ส่งประวัติและแจ้งจำเลยว่าต้องการจะไปทำงานในต่างประเทศ หลังจากนั้นนายสุวรรณกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ทำการสัมภาษณ์โจทก์ และมีผู้จัดการของบริษัทวีเอฟอาร์ จ้อยเวนเจอร์ จำกัด ก็โทรศัพท์มาสัมภาษณ์โจทก์อีกครั้ง และตกลงว่าจ้างโจทก์พร้อมทั้งส่งสัญญาจ้างมาให้โจทก์ตรวจสอบและลงนาม สัญญาจ้างมีนายอีริคลงนามในฐานะผู้จัดการโครงการ โดยโจทก์ลงลายมือชื่อยอมรับข้อเสนอดังกล่าวนั้น จำเลยกำหนดให้โจทก์เดินทางครั้งแรกในวันที่ 20 เมษายน 2551 โจทก์จึงยื่นใบลาออกจากบริษัทซัมมิท ฮิโรทิค จำกัด ในวันที่ 18 เมษายน 2551 นายประสิทธิ์ พนักงานของจำเลยแจ้งโจทก์ขอเลื่อนการเดินทางเนื่องจากตั๋วเครื่องบินและวีซ่ายังไม่พร้อม และกำหนดเดินทางใหม่ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 แต่ก่อนถึงวันเดินทางนายประสิทธิ์สั่งให้โจทก์เตรียมเงิน 15,000 บาท ไปที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย โจทก์ไม่เคยตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าบริการใด ๆ จึงแจ้งว่าจะจ่ายให้จำเลยเมื่อไปทำงานและได้รับเงินเดือนแล้ว ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 โจทก์ไปที่บริษัทจำเลยเพื่อตรวจสอบเอกสารการเดินทางซึ่งปรากฏว่าเอกสารเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองระบุเพศโจทก์ว่าเป็นเพศชาย โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องและจะมีปัญหาในการเดินทาง โจทก์จึงเดินทางกลับบ้านโดยมิได้ไปที่สนามบินตามที่จำเลยนัดหมาย แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจ้างเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทวีเอฟอาร์ จ้อยเวนเจอร์ จำกัด นายจ้างซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ มีนายอีริค เป็นผู้ลงนามในสัญญา ดังนี้เมื่อนายประสิทธิ์ลูกจ้างจำเลย และนายสุวรรณกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างดังกล่าว กรณีจึงยังไม่เข้าลักษณะเป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 824 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจ้าง
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาจ้างแรงงานไม่จำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร พฤติกรรมที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อ รับสมัครงาน ตรวจสอบข้อมูล เผยแพร่ข่าวสารรับสมัคร สัมภาษณ์โจทก์ และรับสัญญาจ้างจากตัวการในต่างประเทศมาให้โจทก์ตรวจสอบและลงชื่อ ถือเป็นการทำสัญญาร่วมกับตัวการในต่างประเทศกับโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว พฤติการณ์ของจำเลยตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อ้างมานั้น เห็นได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับบริษัทวีเอฟอาร์ จ้อยเวนเจอร์ จำกัด ตัวการซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการทำสัญญาจ้างกับโจทก์ การที่จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างดังกล่าวกับนายจ้างผู้เป็นตัวการโดยจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างด้วยตนเองแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการนั้น ก็เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะหลีกเลี่ยงวิธีปฏิบัติตามขั้นตอนของผู้จัดหางานที่จะต้องตรวจสอบและลงนามในสัญญาจ้างดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 นั่นเอง กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแต่ลำพังตนเองแม้ชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจ้าง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ในปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้วินิจฉัยปัญหานี้มาก็ตาม แต่ก็ได้รับฟังข้อเท็จจริงมาเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหานี้ได้ จึงเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างแล้ว จำเลยกำหนดให้โจทก์เดินทางไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในวันที่ 20 เมษายน 2551 ก่อนถึงวันนัดนายประสิทธิ์พนักงานของจำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่สามารถให้โจทก์เดินทางไปเมืองดูไบตามกำหนดนัดได้เนื่องจากตั๋วเครื่องบินและวีซ่ายังไม่เรียบร้อยต้องเลื่อนการเดินทางไปในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 เมื่อถึงวันดังกล่าวโจทก์ไปที่บริษัทจำเลยเพื่อตรวจสอบเอกสารการเดินทางปรากฏว่าเอกสารเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองระบุเพศโจทก์เป็นเพศชาย โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง จะมีปัญหาไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ โจทก์จึงกลับบ้านมิได้เดินทางไปที่สนามบิน เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างโดยเรียกร้องเงินจำนวน 15,000 บาท จากโจทก์เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หากโจทก์ไม่จ่ายก็จะไม่ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศดังกล่าว โจทก์จึงถือว่าจำเลยผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า เดิมจำเลยให้โจทก์เดินทางไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในวันที่ 20 เมษายน 2551 แต่จำเลยขอเลื่อนกำหนดไปในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ก่อนถึงกำหนดนัดนายประสิทธิ์สั่งให้โจทก์เตรียมเงินจำนวน 15,000 บาท เพื่อเป็นค่าบริการแก่จำเลย โจทก์เห็นว่าไม่เคยตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงแจ้งให้นายประสิทธิ์ทราบว่าเงินส่วนนี้จะให้จำเลยหลังจากไปทำงานและได้รับเงินเดือนแล้ว ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 โจทก์ก็ยังไปที่บริษัทจำเลยและตรวจสอบเอกสารการเดินทางและการเข้าเมือง จึงพบว่าเอกสารดังกล่าวระบุเพศโจทก์เป็นเพศชายไม่ตรงกับเพศของโจทก์ ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ โจทก์จึงกลับบ้าน มิได้เดินทางไปที่สนามบิน จะเห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมเสียค่าบริการให้จำเลยตามที่นายประสิทธิ์แจ้งโจทก์แล้ว เพียงแต่ขอผัดใช้ให้หลังจากเดินทางไปทำงานกับนายจ้างและได้รับเงินเดือนแล้วเท่านั้น ทั้งเมื่อถึงวันนัดเดินทางโจทก์ก็เดินทางไปที่บริษัทจำเลยตามกำหนดนัด อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ถือเอาเหตุที่จำเลยเรียกค่าบริการที่โจทก์ไม่พึงต้องเสียมาเป็นเหตุว่าจำเลยผิดสัญญาเพื่อเรียกค่าเสียหายดังที่โจทก์ฟ้องไม่ และการที่เอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความผิดพลาดไม่ตรงกับเพศของโจทก์ โจทก์ก็หาได้เรียกร้องให้จำเลยจัดการเสียให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งหากจำเลยมิได้ดำเนินการให้ก็จะถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์กลับเดินทางกลับบ้าน มิได้เดินทางไปที่สนามบิน ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะไม่เดินทางไปเมืองดูไบตามสัญญาจ้าง กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยผิดสัญญาที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share