คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1502/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าออกจากห้องเช่าอันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาทแม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าที่ดินและห้องพิพาทเป็นของบุคคลอื่น ไม่ใช่ของโจทก์ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือรับรองให้อุทธรณ์ หรือได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคให้อุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นการเกินคำขอหรือไม่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกขึ้นวินิจฉัยโจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายตามศาลชั้นต้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243,247
ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ400 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากห้องเช่าของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ว่า “สำเนาให้จำเลย พิจารณาสั่งในวันนัด” หลังจากนั้นศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อมาจนเสร็จสำนวน โดยมิได้มีคำสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วแต่ประการใด และโจทก์ก็มิได้ทักท้วงขอให้ศาลมีคำสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ จึงไม่อาจถือว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จึงเป็นการเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเช่าห้องแถวของโจทก์ เลขที่ 33 และ 37 ตามลำดับ โดยไม่มีกำหนดเวลาเช่าห้องแถวของโจทก์มีสภาพทรุดโทรมมาก อาจเกิดอันตรายได้ เทศบาลเมืองนครสวรรค์ได้มีหนังสือบังคับให้โจทก์รื้อและปลูกสร้างเป็นตึกตามแบบแปลนของเทศบาล โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าไปยังจำเลย จำเลยไม่ยอมออกจากห้องเช่า ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากห้องเช่าและให้ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดแต่ละห้องเดือนละ 400 บาท จนกว่าจะออกไปจากห้องเช่าของโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามี และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของห้องเลขที่ 33, 37 ห้องพิพาทและที่ดินที่ปลูกห้องพิพาทเป็นของนางจู พันธ์พฤทธิ์จำเลยเช่ามาประมาณ 20 ปีแล้ว ปัจจุบันจำเลยเสียค่าเช่าเดือนละ 50 บาท ถ้าโจทก์รับโอนมา ก็ต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ โจทก์ไม่เคยบอกเลิกการเช่าห้องพิพาท หนังสือบอกเลิกการเช่าท้ายฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องพิพาท และนายทวี มีระเสน สามีโจทก์ให้ความยินยอมในการฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยทราบการบอกเลิกการเช่าของโจทก์แล้วไม่ออกจากห้องพิพาท เป็นการละเมิด พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากห้องพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยกับบริวารออกจากห้องพิพาทให้โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 200 บาทแทนโจทก์

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เป็นการเกินคำขอท้ายฟ้อง เพราะศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องที่ขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ห้องพิพาทตั้งอยู่ในโฉนดที่ 1644 เป็นของนางวีณา ได้รับโอนมาจากนางจู ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เผชิญสืบห้องพิพาทและทำแผนที่ ซึ่งจะปรากฏชัดว่าที่พิพาทอยู่ในโฉนดที่ 1644 เป็นการไม่ถูกต้อง และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความยินยอมจากสามีแล้ว

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าห้องพิพาทเป็นของโจทก์ น่าเชื่อว่าห้องพิพาทอยู่ในที่ดินของนางวีณา ได้รับโอนมาจากนางจูตามเอกสารที่จำเลยอ้าง พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 125 บาท

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้เช่าออกจากห้องเช่า อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่า ที่ดินและห้องพิพาทเป็นของบุคคลอื่น ไม่ใช่ของโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อเว้นแต่ในข้อที่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ ล้วนเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง หรือนับเนื่องด้วยข้อเท็จจริงทั้งสิ้นที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยไม่ปรากฏว่า ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือรับรองให้อุทธรณ์ หรือได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคให้อุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าห้องพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

สำหรับอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นการเกินคำขอ เพราะศาลยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องที่ขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์มิได้ยกขึ้นวินิจฉัยและโจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243, 247

ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนตามคำร้องลงวันที่ 30 มีนาคม 2513 ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย เพราะห้องเช่าของโจทก์ให้เข่าได้เดือนละ 400 บาท จึงขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ 400 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากห้องเช่าของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ว่า “สำเนาให้จำเลย พิจารณาสั่งในวันนัด”หลังจากนั้นศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อมาจนเสร็จสำนวนโดยมิได้มีคำสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วแต่ประการใด และโจทก์ก็มิได้ทักท้วงขอให้ศาลมีคำสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ จึงไม่อาจถือว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จึงเป็นการเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ที่ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย ให้ยกเสีย

Share