คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1963/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุบรรเทาโทษเพราะจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน สมควรลดโทษให้แก่จำเลยที่ฎีกาขึ้นมา เมื่อจำเลยที่มิได้ฎีกาซึ่งกระทำความผิดร่วมกันก็ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเช่นเดียวกัน เหตุบรรเทาโทษดังกล่าวจึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่โดยมีอาวุธติดตัวร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย และใช้กำลังทำร้ายกับใช้ไม้ตีผู้เสียหายจนได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 340, 371,83, 91 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 36,760 บาท แก่ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 340 ให้ลงโทษตามมาตรา 340 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 18 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษปรับคนละ 100 บาท ริบของกลางให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน36,760 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เนื่องจากจำเลยที่ 3 และที่ 4ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมาก มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษในความผิดฐานปล้นทรัพย์ให้หนึ่งในสามและโดยเหตุที่จำเลยที่ 2ที่มิได้ฎีกาได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อถูกจับได้ก็ให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวนเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เหตุบรรเทาโทษดังกล่าวจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 นอกจากนั้น ที่ศาลล่างพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 โดยไม่ระบุวรรคนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม และให้ลดโทษจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ตาม มาตรา 78 ลงหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 12 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share