คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1311-1312/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทางในเส้นทางสายอำเภอเมืองภูเก็ตกับท่าฉัตรไชย ยินยอมให้จำเลยที่ 4 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นคนขับเข้ามาเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีและใช้รถคันดังกล่าวนั้นในกิจการของจำเลยที่ 3 แล้ว แม้ตรงที่จำเลยที่ 5 ขับรถไปเกิดเหตุจะเป็นเส้นทางนอกสัมปทานของจำเลยที่ 3 แต่ก็ปรากฏว่าเป็นเส้นทางที่จำเลยที่ 3 ยินยอมให้รถคันดังกล่าววิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ตลอดมาจำเลยที่ 3 จะอ้างว่ารถนั้นมิได้ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 3 หาได้ไม่
จำเลยที่ 5 เป็นบุตรของจำเลยที่ 4 ได้ขับรถของจำเลยที่ 4 เข้าร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 3 รับขนส่งคนโดยสารเก็บเงินค่าโดยสารตลอดมา อันเป็นการกระทำกิจการในทางหาประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ใช้ให้กระทำ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว ไม่มีเหตุจะคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 5 ขับรถของจำเลยที่ 4 ออกรับจ้างด้วยกระทำให้เปล่า ย่อมถือเอาโดยปริยายว่ามีคำมั่นจะให้สินจ้าง พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 นำรถเข้าร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์ในการนี้จากจำเลยที่ 4 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1653/2500)

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลรวมการพิจารณา สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ได้เช่าซื้อรถยนต์ทะเบียน ภ.ก.๐๐๖๖๒ นำเข้าเดินร่วมรับส่งคนโดยสารกับจำเลยที่ ๑ ในเส้นทางที่จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาต จำเลยที่ ๓ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑, ๒ ขับรถดังกล่าวตามหน้าที่ของลูกจ้างโดยประมาทชนรถยนต์ทะเบียน ภ.ก.๐๐๗๓๙ ของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า มิได้อนุญาตให้ผู้ใดเดินรถรับขนคนโดยสารนอกเขต จำเลยที่ ๓ มิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ ๓ เดินรถบนเส้นทางของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒, ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เช่าซื้อรถยนต์ทะเบียน ภ.ก.๐๐๖๖๒ ต่อจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ ๓ เหตุที่รถชนกันเพราะความประมาทของลูกจ้างโจทก์ที่ขับรถ ความเสียหายของรถโจทก์มีเพียงเล็กน้อย
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๔ ได้เช่าซื้อรถยนต์ทะเบียน ภ.ก.๐๐๖๖๒ นำเข้าร่วมรับส่งคนโดยสารกับจำเลยที่ ๓ โดยมีจำเลยที่ ๕ เป็นลูกจ้างผู้ขับขี่ จำเลยที่ ๕ ได้ขับรถดังกล่าวในทางการที่จ้างชนกับรถยนต์ทะเบียน ภ.ก.๐๐๗๓๙ ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ด้วยความประมาทของคนขับทั้งสองฝ่ายเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งมาในรถของจำเลยที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธความรับผิด
ชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นให้เรียกนางวรรณวิมลโจทก์คดีหลังว่าโจทก์ บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด จำเลยที่ ๑ ในคดีหลัง และโจทก์คดีแรกว่า จำเลยที่ ๑ ให้เรียกจำเลยที่ ๒ ในคดีหลังว่าจำเลยที่ ๒ และเรียกจำเลยที่ ๓, ๔, ๕ ในคดีหลังซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ในคดีแรกว่าจำเลยที่ ๓, ๔, ๕
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด จำเลยที่ ๑ (โจทก์คดีแรก) เป็นเงิน ๑๐,๗๗๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๑๒ จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด จำเลยที่ ๑ (โจทก์คดีแรก) อีก ๕๐๐ บาท กับให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันรับผิดใช้ค่ารักษาพยาบาล ๔,๒๕๐ บาท ค่าเสริมฟันชุดชั่วคราวและถาวร ๑,๓๕๐ บาท ค่าแต่งหน้าและค่าทนทุกขเวทนา ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดผลประโยชน์ ๑๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๕,๖๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอีก ๑,๐๐๐ บาท แก่นางวรรณวิมลโจทก์ ให้ยกฟ้องนางวรรณวิมลโจทก์เกี่ยวแก่บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๓, ๔, ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวแก่จำเลยที่ ๓, ๔ ในคดีทั้งสองสำนวนเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองศาลเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑, ๒ ในสำนวนคดีแรก และเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓, ๔ ในสำนวนคดีหลังให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เกี่ยวแก่จำเลยที่ ๕ ให้เป็นพับ
บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด จำเลยที่ ๑ (ในฐานะโจทก์สำนวนคดีแรก) และนางวรรณวิมลโจทก์ฎีกาขอให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๕ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภ.ก.๐๐๖๖๒ โดยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภ.ก.๐๐๗๓๙ ของจำเลยที่ ๑ (โจทก์คดีแรก) เสียหายเป็นเงิน ๑๐,๗๗๙ บาท และทำให้นางวรรณวิมลโจทก์ได้รับบาดเจ็บคิดเป็นค่าเสียหาย ๒๕,๖๐๐ บาท รถยนต์หมายเลขทะเบียน ภ.ก.๐๐๖๖๒ ที่จำเลยที่ ๕ ขับเป็นของจำเลยที่ ๔ เช่าซื้อครอบครองอยู่ ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า รถคันที่จำเลยที่ ๕ ขับนี้เข้าร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นรายเที่ยว ทั้งปรากฏว่ารถยนต์คันที่เกิดเหตุประทับตราเครื่องหมายมีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๓ การที่จำเลยที่ ๓ ยินยอมให้จำเลยที่ ๔ นำรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๕ ขับเข้ามาเดินรถร่วมกับจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้มีและใช้รถคันเกิดเหตุของจำเลยที่ ๔ ในกิจการของจำเลยที่ ๓ แล้ว แม้ตรงที่จำเลยที่ ๕ ขับรถยนต์ไปเกิดเหตุนั้นจะเป็นเส้นทางนอกสัมปทานของจำเลยที่ ๓ แต่ก็ปรากฏว่าเป็นเส้นทางที่จำเลยที่ ๓ ยินยอมให้รถคันเกิดเหตุวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ ๓ ตลอดมา จำเลยที่ ๓ จะอ้างว่ารถคันที่เกิดเหตุมิได้ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ ๓ หาได้ไม่
ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๕ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๕ ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเข้าร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ ๓ รับขนส่งคนโดยสารเก็บเงินค่าโดยสารตลอดมา แสดงว่าจำเลยที่ ๕ ได้กระทำกิจการในทางหาประโยชน์ให้กับจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๔ ใช้ให้กระทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏจึงเห็นได้ว่าลักษณะการกระทำของจำเลยที่ ๕ ที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ ๔ ออกรับจ้างหาประโยชน์เป็นเงินให้แก่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ตลอดมา แม้จำเลยที่ ๕ จะเป็นบุตรจำเลยที่ ๔ ก็ยังไม่มีเหตุจะคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ ๕ ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกรับจ้างด้วยกระทำให้เปล่าย่อมถือเอาโดยปริยายว่ามีคำมั่นจะให้สินจ้างดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๖ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า พฤติการณ์ดังที่วินิจฉัยมา พอฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ ๕ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ เทียบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๕๓/๒๕๐๐ การที่จำเลยที่ ๔ นำรถคันเกิดเหตุเข้าร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับประโยชน์ในการนี้จากจำเลยที่ ๔ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๕ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะข้อที่ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓, ๔ เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ ๓, ๔ ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ ๓, ๔ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ฎีกาให้โจทก์ทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสองศาลให้บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด จำเลยที่ ๑ (โจทก์สำนวนคดีแรก) ๘๐๐ บาท นางวรรณวิมล (โจทก์สำนวนคดีหลัง) ๑,๕๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share