คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่องานที่โจทก์ทำให้จำเลยชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้นั้น ถูกต้องแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังคงต้องวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์อีก เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 8,509,365.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งและบังคับโจทก์ชำระเงิน 85,361,455 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 428,066.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 เมษายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอื่นที่เหลือตามฟ้องแย้งของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 224,989.11 บาท แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 25 มิถุนายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้ง และค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์นอกจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 สั่งคืนไว้แล้วให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,637,191.79 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 เมษายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้จัดทำโครงการสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ที่จังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงปี 2545 บริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล ลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทโอบายาชิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัททาเคนากะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงเข้าหุ้นส่วนกันในรูปกิจการร่วมค้า ไอทีโอเจวี ผู้รับเหมาหลักไปทำสัญญารับจ้างบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทำการก่อสร้างอาคารท่าเทียบเครื่องบินและอาคารผู้โดยสารในสนามบิน โดยอาคารท่าเทียบเครื่องบินที่ผู้รับเหมาหลักก่อสร้างจะเป็นอาคารตามแนวยาวเชื่อมต่อกันเป็นรูปกากบาท โดยทำอาคารเช่นนี้ทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก แล้วมาเชื่อมต่อกันระหว่างอาคารซึ่งมีอาคารผู้โดยสารอยู่ด้านหน้าหันหน้าไปทางทิศเหนือเชื่อมต่อกับอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านหลังเป็นทางเข้าออกเอาไว้ 3 จุด อาคารท่าเทียบเครื่องบินทางทิศตะวันออก (อาคารคอนคอร์ด) ประกอบไปด้วยอาคารเอ ทางทิศเหนือ อาคารซีทางทิศใต้ อาคารบี ทางทิศตะวันออก และอาคารดี ทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารท่าเทียบเครื่องบินทางทิศตะวันตกประกอบไปด้วยอาคารจี ทางทิศเหนือ อาคารอี ทางทิศใต้ อาคารเอช ทางทิศตะวันออก และอาคารเอฟ ทางทิศตะวันตก แล้วมาเชื่อมต่อกันระหว่างอาคารดีกับอาคารเอช ในการก่อสร้าง ผู้รับเหมาหลักได้มาทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยผู้รับเหมารองทำการติดตั้งกระจกที่อาคารท่าเทียบเครื่องบินและอาคารผู้โดยสารทั้งภายนอกและภายในอาคารทั้งหมดบนโครงเหล็กหลังคาที่ผู้รับเหมาหลักทำขึ้น ปี 2546 และปี 2547 จำเลยผู้รับเหมารองจึงได้มาทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอส-เอ อลูมินั่ม จำกัด ผู้รับเหมาช่วงทำการติดตั้งกระจกที่อาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันออก คือ อาคารรูปกากบาทส่วนที่ระบายด้วยสีเขียว ทั้งภายนอกอาคารเนื้อที่ 55,000 ตารางเมตร โดยตกลงค่าจ้าง 23,100,000 บาท และภายในอาคารเนื้อที่ 46,750 ตารางเมตร โดยตกลงค่าจ้าง 17,240,000 บาท ส่วนอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตกจำเลยผู้รับเหมารองได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอส.ซี เกลสซิ่ง จำกัด ผู้รับเหมาช่วงทำการติดตั้งกระจกทั้งภายนอกและภายในอาคารเช่นกัน ในการว่าจ้างตกลงให้จำเลยผู้รับเหมารองเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการติดตั้งกระจกทั้งหมด โดยพวกกระจกจะเป็นกระจกนิรภัยที่จำเลยสั่งซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา กรอบอะลูมิเนียม ขอบยางรองกระจก คลิปล็อกกระจก กาวซิลิโคน รวมถึงเครื่องมือหนักที่ใช้ในการติดตั้งกระจก พวกรถกระเช้าไฟฟ้า รถเครน นั่งร้าน เครื่องยกกระจก เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง จำเลยก็เป็นผู้จัดหามาให้ทั้งหมด ส่วนผู้รับเหมาช่วงเป็นผู้จัดหาแรงงานช่างฝีมือมาทำติดตั้งกระจกเท่านั้น ในส่วนการทำงานผู้รับเหมาช่วงตกลงว่าในการติดตั้งกระจกภายนอกอาคารมี 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 จะทำการติดตั้งกรอบอะลูมิเนียมบนโครงเหล็กหลังคาเมื่อเสร็จแล้วจำเลยและผู้รับเหมาหลักจะมาตรวจสอบผลงานครั้งหนึ่ง ถ้าผลงานที่ทำไปแล้วเสร็จเรียบร้อยก็จะทำขั้นตอนที่ 2 คือ ใส่ขอบยางรองกระจกไปในขอบร่องกรอบอะลูมิเนียมพร้อมกับยาแนวด้านในด้วยกาวซิลิโคน จากนั้นติดตั้งกระจกเข้าไปในกรอบอะลูมิเนียมด้วยการใส่กระจกเข้าไปในขอบยางรองกระจกพร้อมกับยาแนวด้านนอกด้วยกาวซิลิโคนเชื่อมปิดไว้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วจำเลยและผู้รับเหมาหลักจะมาตรวจสอบผลงานอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผลงานที่ทำไปแล้วเสร็จเรียบร้อยก็จะทำขั้นตอนที่ 3 โดยจะ ล็อกกระจกไว้ด้วยคลิปล็อกกระจกอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นจำเลยและผู้รับเหมาหลักจะมาตรวจสอบผลงานครั้งสุดท้ายด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าไปที่กระจก ถ้าผลงานที่ทำไปแล้วเสร็จเรียบร้อยโดยกระจกที่ติดตั้งน้ำไม่รั่วซึมก็ถือว่าผลงานเสร็จเรียบร้อยผ่านได้ ส่วนการติดตั้งกระจกภายในอาคารที่ราวกันตกและที่กระจกฝาผนังมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก โดยจะทำการติดตั้งกรอบอะลูมิเนียมแล้วใส่ขอบยางรองกระจกไปในขอบร่องกรอบอะลูมิเนียม จากนั้นติดตั้งกระจกเข้าไปในกรอบอะลูมิเนียมด้วยการใส่กระจกเข้าไปในขอบยางรองกระจกพร้อมกับยาแนวด้วยกาวซิลิโคนเสร็จแล้วก็ล็อกกระจกไว้ด้วยคลิปล็อกกระจกอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นจำเลยและผู้รับเหมาหลักจะมาตรวจสอบผลงานเพียงครั้งเดียว แต่การตรวจสอบผลงานดังกล่าวก็ถือเพียงว่าผู้รับเหมาช่วงทำงานเสร็จเรียบร้อยในเบื้องต้นเท่านั้น กรณีอาจมีความชำรุดบกพร่องของงานที่เกิดขึ้นภายหลังที่จำเลยและผู้รับเหมาหลักไม่อาจตรวจสอบพบได้ในขณะส่งมอบอย่างเช่นคดีนี้ที่ผู้รับเหมาช่วงจะต้องรับผิด แต่ถ้ายังไม่มีการตรวจสอบผลงานก็แสดงว่าผลงานที่ผู้รับเหมาช่วงทำไปแล้วยังไม่เสร็จเรียบร้อย ผู้รับเหมาช่วงยังไม่สามารถเบิกเงินค่าจ้างจากจำเลยได้ ในส่วนอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตกบริษัทเอส-ซี เกลสซิ่ง จำกัด ผู้รับเหมาช่วงทำงานได้เสร็จเรียบร้อยไม่มีปัญหา แม้กระจกภายนอกอาคารเวลาฝนตกมีน้ำรั่วซึมแต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อย บริษัทเอส-ซี เกลสซิ่ง จำกัด ก็สามารถแก้ไขได้ แต่ในส่วนอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันออก เมื่อบริษัทเอส-เอ อลูมินั่ม จำกัด ผู้รับเหมาช่วงทำงานได้บางส่วนก็ไม่ยอมทำงานอีกต่อไป หลังจากโจทก์จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในเดือนพฤศจิกายน 2547 แล้ว ในเดือนเดียวกันจำเลยจึงได้ว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วงทำการติดตั้งกระจกที่อาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันออก ทั้งภายนอกและภายในอาคารในส่วนที่เหลือต่อจากบริษัทเอส-เอ อลูมินั่ม จำกัด โดยตกลงค่าจ้างตามผลสำเร็จของงานที่ทำ แต่บริษัทเอส-เอ อลูมิเนียม จำกัด ไม่ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างของตนให้โจทก์ โดยจำเลยรู้เห็นยินยอมในอันที่จะถือว่าจำเลยกับโจทก์ตกลงค่าจ้างตามมูลค่าค่าจ้างในส่วนที่เหลือตามสัญญาว่าจ้างของบริษัทเอส-เอ อลูมินั่ม จำกัด แต่ในส่วนการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการติดตั้งกระจกทั้งหมด และรายละเอียดในส่วนการทำงาน จำเลยกับโจทก์ถือตามข้อตกลงเดิมในสัญญาว่าจ้างของบริษัทเอส-เอ อลูมินั่ม จำกัด โดยโจทก์เป็นผู้จัดหาแรงงานช่างฝีมือมาทำการติดตั้งกระจกเท่านั้น และเมื่อโจทก์ทำงานเสร็จเรียบร้อยในแต่ละงวดงานในการส่งมอบงานเพื่อเบิกค่าจ้างตามปกติ โจทก์จะจัดทำหนังสือแจ้งการทำงานของโจทก์ ใบสรุปรายละเอียดผลงานที่โจทก์ทำไปแล้ว และใบวางบิลเรียกเก็บเงินส่งไปถึงจำเลย โดยจะต้องมีพนักงานจำเลย คือ นายถนอมหรือนายวิไชย หรือนายชุมพล (ซึ่งนายชุมพลเป็นพนักงานจำเลยอยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2549 ก็ถูกให้ออกจากงานเนื่องจากดื่มสุราในเวลาทำงานแล้วต่อมาก็มาเบิกความเป็นพยานโจทก์) มาตรวจสอบผลงานด้วยการลงลายมือชื่อรับมอบงานในช่อง CHECKE BY ในหนังสือแจ้งการทำงานและใบสรุปผลงาน (โดยในการตรวจสอบผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วจำเลยจะตรวจสอบร่วมกับผู้รับเหมาหลักตามที่กล่าวมาแล้ว) พร้อมกับต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย คือ นายคริสโตเฟอร์ หรือตัวแทนลงลายมือชื่ออนุมัติให้จ่ายค่าจ้างในช่อง APPROVED BY ในใบวางบิล หรือในหนังสือแจ้งการทำงาน หรือในใบสรุปผลงาน (ในกรณีไม่ได้ทำใบวางบิล) โจทก์จึงสามารถเบิกเงินค่าจ้างจากจำเลยได้ ปรากฏว่าโจทก์เบิกเงินค่าจ้างจากจำเลยตามหนังสือแจ้งการทำงาน ใบสรุปผลงานและใบวางบิลตามที่โจทก์ทำงานเสร็จเรียบร้อยในแต่ละงวดงานไปแล้ว เป็นเงิน 6,814,318 บาท และในการที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในแต่ละงวดงานจำเลยจะหักเงินค่าจ้างไว้เป็นเงินประกันผลงานตามข้อตกลงร้อยละ 10 รวมเป็นเงินประกันผลงานของโจทก์ที่จำเลยหักไว้ 2,108,837 บาท ซึ่งจำเลยจะคืนเงินประกันผลงานให้โจทก์ถ้างานที่ทำของโจทก์ไม่มีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น โดยจำเลยจะคืนให้ร้อยละ 5 เมื่อโจทก์ทำงานแล้วเสร็จ ส่วนอีกร้อยละ 5 จำเลยจะคืนให้เมื่อครบ 1 ปี นับแต่โจทก์ทำงานแล้วเสร็จ หลังจากนั้นโจทก์ก็ทำงานติดตั้งกระจกให้จำเลยต่อไปอีกจนแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2548 แต่โจทก์ทำงานชำรุดบกพร่องเนื่องจากหลังจากนั้นอีกประมาณ 9 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จำเลยตรวจพบความชำรุดบกพร่องในงานติดตั้งกระจกภายนอกอาคารที่อาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันออกที่โจทก์ทำโดยเหตุที่เวลาฝนตกจะมีน้ำรั่วซึมออกมาจากกระจกที่โจทก์ติดตั้งหลายแห่ง คือ บริเวณที่ 1 ที่บริเวณกระจกที่ติดตั้งในกรอบอะลูมิเนียมบนโครงเหล็กหลังคาที่ทำไว้ตามรูปสามเหลี่ยมเสาเหล็กโครงสร้างที่อยู่ด้านในของอาคารท่าเทียบเครื่องบินเอ บี ซี ดี ทุกอาคาร (TYPICAL BAYS) บริเวณที่ 2 ที่บริเวณจุดเชื่อมต่ออาคารท่าเทียบเครื่องบินรูปกากบาท (TERMINAL LINK EAST) และบริเวณที่ 3 ที่บริเวณจุดเชื่อมต่ออาคารท่าเทียบเครื่องบินอาคารดี กับอาคารผู้โดยสารที่เป็นทางเข้าออกเอาไว้ 1 จุด ด้านทิศตะวันออก (CROSSING D) เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในการติดตั้งกระจกโจทก์ยาแนวด้วยกาวซิลิโคนไม่ถูกต้องตามแบบ โดยไม่มีการทำความสะอาดพื้นผิวกรอบอะลูมิเนียมและพื้นผิวกระจกก่อนยาแนว บางแห่งยาแนวขณะที่พื้นผิวมีความชื้นทำให้กาวซิลิโคนที่ยาแนวหลุดร่อน บางแห่งก็ยาแนวไม่หมด ไม่ครบถ้วนตามแบบ และมีแรงกดทับกระจกขณะที่กาวซิลิโคนที่ยาแนวด้านในยังไม่แห้งทำให้กาวปลิแตกออก นอกจากนี้ยังติดขอบยางรองกระจกไม่ถูกต้อง โดยจำเลยสำรวจความเสียหาย 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 บริเวณที่ 1 คือ แผ่นที่ 97 ถึงที่ 111 บริเวณที่ 2 คือแผ่นที่ 112 ที่ 124 ที่ 125 และที่ 178 บริเวณที่ 3 คือแผ่นที่ 126 และที่ 179 เมื่อเป็นดังนี้ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2550 เป็นเวลา 5 เดือน จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งเรื่องการทำงานชำรุดบกพร่องให้โจทก์ทราบรวม 13 ฉบับ แต่โจทก์ก็ไม่ซ่อมแซมแก้ไขงานที่ชำรุดบกพร่องให้จำเลยถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการที่จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องจนแล้วเสร็จให้จำเลย (ซึ่งในการจ้างบุคคลอื่นก็เช่นกัน จำเลยจะเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ส่วนบุคคลอื่นเป็นผู้จัดหาแรงงานช่างฝีมือมาทำการซ่อมแซมแก้ไขเท่านั้นอย่างเดียวกับโจทก์) โดยในหนังสือ ในช่วงปี 2549 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขเป็นเงิน 13,777,991 บาท ซึ่งจำเลยจะหักลดหนี้จากบัญชีของโจทก์ (ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยจะหักกลบลบหนี้จากเงินประกันผลงานของโจทก์ ที่จำเลยหักไว้) โดยจำเลยนำสืบตามฟ้องแย้งเพียงเท่าที่ฎีกาว่า จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขรวมเป็นเงิน 18,663,363 บาท โดยแยกออกได้ดังนี้ 1.ค่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพรรณขจรเอ็นจิเนียริ่ง ซ่อมแซมแก้ไขจุดที่มีน้ำรั่วซึมออกมาจากกระจกที่โจทก์ติดตั้ง 3,036,024 บาท 2.ค่าจ้างบริษัททีทียู คอมเมอร์เชียล จำกัด ซ่อมแซมแก้ไขการติดตั้งกรอบอะลูมิเนียม 88,233 บาท 3.ค่าจ้างบริษัทแซมมิเทรดดิ้ง จำกัด ซ่อมแซมแก้ไขตะแกรงลวดช่องระบายอากาศ 2,846 บาท 4.ค่าจ้างบริษัทเอส-ซี เกลสซิ่ง จำกัด ซ่อมแซมแก้ไขกระจกที่โจทก์ติดตั้งและกรอบอะลูมิเนียม 351,828 บาท 5.ค่าจ้างบริษัทศรีศุภมิตรอินเตอร์ซัพพลาย จำกัด ซ่อมแซมแก้ไขกระจกที่โจทก์ติดตั้งและกรอบอะลูมิเนียม 683,959 บาท 6.ค่าจ้างร้านสนิทก่อสร้างทำการขนย้ายกระจก 104,342 บาท 7.ค่าคลิปล็อกกระจกที่ซื้อจากบริษัทกอรี่ไทย อินเตอร์คอนดิเนนตัล จำกัด 240,692 บาท 8.ค่าเช่ารถกระเช้าไฟฟ้าเพื่อยกอุปกรณ์จากบริษัทไทยเทคเร้นท์ทัล จำกัด 6,675,116 บาท 9.ค่าเช่ารถโฟล์กลิฟท์ ใช้ยกของจากบริษัทเอ็มทีเอส เอ็นจิเนียริ่งแอนด์เร้นท์ทัล จำกัด 1,367,460 บาท 10.ค่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด จันทร์ดีซัพพลาย ยาแนวซิลิโคน 2,018,319 บาท 11.ค่าเช่าลิฟท์กระเช้าใช้ยกของและคนงานเพื่อติดตั้งกระจกจากบริษัทฟาสเตอร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด 53,500 บาท 12.ค่าเช่ารถบรรทุกน้ำเพื่อทดสอบรอยรั่วซึมจากบริษัทบางพลีเทรดดิ้ง จำกัด 342,400 บาท 13.ค่าเช่าอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในการติดตั้งกระจกจากบริษัทเอสดี อินดัสตรี้เทรดดิ้ง จำกัด 132,690 บาท 14.ค่าปืนยิงซิลิโคนที่ซื้อมาจากบริษัทจีคอน ประเทศไทย จำกัด 32,485 บาท 15.ค่าปืนยิงซิลิโคนที่ซื้อมาจากบริษัทสินประเสริฐ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 1,476 บาท 16.ค่าสารกันน้ำรั่วซึมที่ซื้อมาจากบริษัทชัยเทพอารีย์ จำกัด 12,262 บาท 17.ค่าจ้างบริษัทอาหรับ ฟาซาด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำการสำรวจความเสียหายรอยน้ำรั่วซึมที่โครงเหล็กหลังคาของอาคารท่าเทียบเครื่องบิน เป็นเงิน 105,643 บาท 18.ค่าเช่ารถยนต์ขนของและขนคนงานจากบริษัทลีเวอร์เซิฟสตรองวิว จำกัด 460,421 บาท 19.ค่าเศษผ้าทำความสะอาดกระจกที่ซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคพัฒนา ซัพพลาย จำกัด 10,272 บาท 20.ค่าปั้มน้ำที่ซื้อมาจากร้านเจริญชัยกลการ 89,238 บาท 21.ค่ากาวซิลิโคนที่ซื้อมาจากบริษัทดาวน์คลอริ่ง ประเทศไทย จำกัด 1,906,372 บาท 22.ค่าน้ำมันใช้กับรถโฟล์กลิฟท์กับรถกระบะภายในไซด์งานที่ซื้อมาจากบริษัทภูบดินทร์ จำกัด 484,517 บาท 23.ค่าเช่าบ้านให้คนงานและคนควบคุมงานจำเลยอยู่จากนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ 288,120 บาท 24.ค่าเช่าบ้านให้คนงานจำเลยจากนายพนมชัย 175,141 บาท และจำเลยยังต้องเสียค่าใช้จ่ายรับผิดค่าซ่อมแซมงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องต่อไปอีก 10 ปี เนื่องจากจุดที่น้ำรั่วซึมออกมาจากกระจกที่โจทก์ติดตั้งบางแห่งก็ไม่สามารถยกกระจกออกมาเพื่อซ่อมแซมได้ อีกทั้งต้องสูญเสียผลกำไรโดยเหตุที่มีการใช้วัสดุอุปกรณ์มากเกินความจำเป็น แทนที่จะนำไปใช้ในโครงการอื่น 5,000,000 บาท และจำเลยต้องเสียหายสูญเสียรายได้ดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับจากผู้รับเหมาหลัก เนื่องจากการก่อสร้างประสบปัญหา 32,830,363 บาท และจำเลยต้องเสียหายต่อชื่อเสียงทางการค้าที่ถูกผู้รับเหมาหลักขึ้นบัญชีดำ 50,000,000 บาท ส่วนที่จำเลยนำสืบ โดยมีนางสาวสุมาลี พนักงานการเงินมาเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า นอกจากนี้จำเลยยังต้องเสียค่าจ้างคนงานและคนคุมงานของจำเลยในการซ่อมแซมแก้ไขกระจกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2549 ถึงเดือนธันวาคม 2550 อีก 9,167,000 บาท เนื่องจากจำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาล ศาลล่างทั้งสองจึงไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งจึงยุติว่าไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ ค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงยุติเพียงว่า จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการที่ 5 ค่าจ้างซ่อมแซมแก้ไขกระจกเป็นเงิน 315,610 บาท และในรายการที่ 10 ค่าจ้างยาแนวซิลิโคน 337,444 บาท ค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดให้ จำเลยจึงฎีกาขอค่าใช้จ่ายในค่าจ้าง ค่าเช่า และเงินค่าซื้อสินค้าในรายการส่วนที่เหลืออีก 18,010,309 บาท และขอค่าเสียหายค่าใช้จ่าย 10 ปี ค่าเสียหายที่สูญเสียรายได้และค่าเสียหายต่อชื่อเสียงขึ้นมา ถึงแม้โจทก์ผิดสัญญา แต่โจทก์ก็ยังเอางานติดตั้งกระจกที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องตามที่กล่าวมาแล้วมาฟ้องให้จำเลยชำระหนี้รวมเป็นเงิน 2,417,728 บาท โดยแยกออกได้ดังนี้ 1.ค่าแรงคนงานโจทก์ที่จำเลยให้มารอทำงานในเดือนสิงหาคม 2547 เป็นเงิน 175,800 บาท 2.ค่าติดตั้งกระจกอาคารท่าเทียบเครื่องบิน เป็นเงิน 203,813 บาท 3.ค่าติดตั้งกระจกอาคารท่าเทียบเครื่องบินเป็นเงิน 428,066 บาท 4.ค่าติดตั้งกระจกอาคารท่าเทียบเครื่องบิน รวมเป็นเงิน 1,317,137 บาท 5.ค่าติดตั้งกระจกอาคารผู้โดยสารและอาคารจอดรถ รวมเป็นเงิน 292,906 บาท ซึ่งข้อเท็จจริงยุติว่าเนื่องจากรายการชำระหนี้ที่ 1 เป็นค่าแรงคนงานของบริษัทเอส-เอ อลูมินั่ม จำกัด ไม่เกี่ยวกับโจทก์ ส่วนรายการชำระหนี้ที่ 2 จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ ส่วนรายการชำระหนี้ที่ 4 โดยเหตุที่โจทก์ผิดสัญญาที่ทำงานชำรุดบกพร่องดังจะเห็นได้ว่าในหนังสือแจ้งการทำงานและใบสรุปผลงานพนักงานจำเลยไม่ได้มาตรวจสอบผลงานด้วยการลงลายมือชื่อรับมอบงานไว้ และจำเลยก็ยังไม่ได้อนุมัติให้จ่ายค่าจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ ส่วนรายการชำระหนี้ที่ 5 ศาลชั้นต้นก็วินิจฉัยให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้โดยเหตุผลเช่นเดียวกับรายการชำระหนี้ที่ 4 แต่ทั้ง ๆ ที่โจทก์ผิดสัญญาทำงานชำรุดบกพร่องแต่ศาลล่างทั้งสองก็ยังวินิจฉัยให้จำเลยชำระหนี้ในรายการชำระหนี้ที่ 3 ให้โจทก์ จำเลยจึงฎีกาในส่วนนี้ขึ้นมา นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องเพียงเท่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า วันที่ 30 สิงหาคม 2548 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นกรณีพิเศษให้ทำการถอดไม้อัดออกแล้วติดตั้งกระจกเป็นหลังคาไว้แทนชั่วคราว 480 แผ่น ตกลงค่าจ้างแผ่นละ 2,000 บาท เป็นเงิน 960,000 บาท โจทก์ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าติดตั้งกระจกชั่วคราวในส่วนนี้แก่โจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยให้จำเลยชำระหนี้ในส่วนนี้แก่โจทก์ จำเลยจึงฎีกาในส่วนนี้ขึ้นมานอกจากนี้จำเลยยังฎีกาในเรื่องเงินประกันผลงานของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยหักไว้เป็นเงิน 902,180 บาท ไม่ชอบเนื่องจากจำเลยไม่ได้หักเงินประกันผลงานของโจทก์ไว้เลย และจำเลยยังฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่ขาดอายุความอย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยขึ้นมาอีก
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกามีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด สำหรับรายการชำระหนี้ที่ 3 ตามที่จำเลยฎีกาซึ่งศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ 428,066.05 บาท นั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาทำงานชำรุดบกพร่อง และรายการชำระหนี้ที่ 3 เป็นหนี้ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกมาได้จากงานติดตั้งกระจกที่โจทก์ทำผิดสัญญาเนื่องจากความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นทุกอาคารท่าเทียบเครื่องบิน เอ บี ซี ดี ดังนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้จากจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่าหลังจากโจทก์ผิดสัญญา ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2550 เป็นเวลา 5 เดือน การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งเรื่องการทำงานชำรุดบกพร่องให้โจทก์ทราบถึง 13 ฉบับ โดยจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงจำนวนค่าใช้จ่ายจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขซึ่งจำเลยจะหักลดหนี้จากบัญชีของโจทก์โดยเหตุที่โจทก์ไม่ซ่อมแซมแก้ไขงานที่ชำรุดบกพร่อง พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์เนื่องจากโจทก์ผิดสัญญาแล้ว สัญญาจึงเลิกกัน คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยจำเลยต้องใช้ค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเองเช่นนี้แต่เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์ได้ไม่ถือว่าเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นในอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าการงานในรายการชำระหนี้ที่ 3 ให้โจทก์ ส่วนรายการชำระหนี้ที่ 2 ที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้ว ถือว่าโจทก์ได้รับค่างานการที่โจทก์ได้ทำจากจำเลยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้อีก ส่วนรายการชำระหนี้ที่ 4 เมื่อโจทก์ผิดสัญญาทำงานชำรุดบกพร่อง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้นั้นเป็นการถูกต้องแล้ว แต่จากเหตุดังกล่าวศาลชั้นต้นก็ยังคงต้องวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์อีก เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) แม้โจทก์จะไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบ 246, 247 (เดิม) ดังนั้น จึงต้องให้จำเลยชำระค่าการงานได้ทำในรายการชำระหนี้ที่ 4 ให้โจทก์ และเมื่อโจทก์รับจ้างจำเลยติดตั้งกระจกที่อาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันออกเท่านั้นไม่เกี่ยวกับอาคารผู้โดยสารและอาคารจอดรถซึ่งเป็นคนละส่วนกัน จึงไม่ต้องวินิจฉัยถึงค่าการงานในรายการชำระหนี้ที่ 5 ส่วนในการชำระเงินค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์นั้น ต้องพิจารณาตามผลงานในส่วนที่จำเลยได้รับประโยชน์เพียงต้นทุนที่โจทก์ลงไปเท่านั้นไม่ได้ยึดถือตามค่าจ้างที่ต้องชำระ เมื่องานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องแม้จะเกิดขึ้นถึงสามบริเวณก็ตาม แต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้ผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วไร้ประโยชน์ โดยจำเลยยังได้รับประโยชน์จากผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่จำเลยต้องจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขเท่านั้น หลังจากซ่อมแซมแก้ไขแล้วอาคารท่าเทียบเครื่องบินก็ยังคงใช้ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับต้นทุนในการดำเนินงานของโจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้ 1 ใน 3 ของค่าจ้างที่ต้องชำระ ดังนั้น จึงให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์ในรายการชำระหนี้ที่ 3 และที่ 4 เป็นเงินรวม 581,734 บาท
ในเรื่องค่าติดตั้งกระจกชั่วคราวตามที่จำเลยฎีกา ได้ความตามที่นายชุมพล พยานโจทก์เบิกความว่า เนื่องจากกระจกที่จำเลยสั่งซื้อมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกระจกนิรภัยส่งมาไม่ทันภายในกำหนด จึงทำให้งานติดตั้งกระจกของโจทก์ล่าช้า โดยเหตุที่ที่จุดเชื่อมต่อบริเวณที่ 3 มีช่องโหว่อยู่ยังไม่ได้ติดตั้งกระจก แต่นายกรัฐมนตรีจะมาตรวจงานเพื่อเร่งให้ทันกำหนดวันเปิดสนามบินในวันที่ 28 กันยายน 2549 ดังนั้น จำเลยจึงให้โจทก์นำไม้อัดไปติดตั้งเป็นหลังคาแทนกระจกไว้ก่อนแล้วทาสีดำ เพื่อให้เห็นว่าจำเลยผู้รับเหมาหลักทำงานเป็นไปตามขั้นตอนของสัญญา หลังจากตรวจงานแล้วกระจกก็ยังไม่ส่งมา ในช่วงนั้นเป็นฤดูฝนไม้อัดที่นำไปติดตั้งเป็นหลังคาไว้ไม่ทนน้ำหลังคาจึงรั่วทำให้งานก่อสร้างภายในอาคารเสียหาย วันที่ 30 สิงหาคม 2548 จำเลยจึงได้ว่าจ้างโจทก์เป็นกรณีพิเศษให้ทำการถอดไม้อัดออกแล้วติดตั้งกระจกธรรมดาเป็นหลังคาไว้แทนชั่วคราวตามฟ้อง 480 แผ่น ตกลงค่าจ้างแผ่นละ 2,000 บาท ตามที่พยานโจทก์เบิกความแสดงว่า เมื่อกระจกจากประเทศสหรัฐอเมริกาส่งมาแล้วก็จะต้องมีการถอดกระจกธรรมดาออกก่อนเพื่อให้โจทก์นำกระจกนิรภัยไปติดตั้งอีกครั้งหนึ่งจึงจะถือว่างานหลักที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งกระจกแล้วเสร็จ ดังนั้น โดยสภาพงานติดตั้งกระจกชั่วคราวต้องมีการจ้างและต้องเสร็จสิ้นก่อนงานหลักแล้วเสร็จ แต่ตามฟ้องปรากฏว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งกระจกชั่วคราวในเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทำงานหลักแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2548 ตามที่โจทก์ฟ้องและให้การแก้ฟ้องแย้ง ถึงแม้รับฟังตามที่นายสุชาติ ผู้รับมอบอำนาจเบิกความว่า โจทก์ทำงานหลักแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2548 แต่นายสุชาติก็เบิกความว่าโจทก์ติดตั้งกระจกชั่วคราวเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2548 ภายหลังงานหลักแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2548 ที่โจทก์นำสืบจึงดูสับสนวกวนและขัดแย้งต่อเหตุผลเนื่องจากเมื่อโจทก์ทำงานหลักแล้วเสร็จโดยติดตั้งกระจกนิรภัยแล้ว เหตุใดจึงมีการติดตั้งกระจกชั่วคราวอีก เมื่อเป็นเช่นนี้แม้โจทก์จะมีหนังสือแจ้งการทำงานของโจทก์ ที่โจทก์มีไปถึงนายบรู๊ซ ซึ่งจำเลยมอบอำนาจให้เป็นผู้สั่งซื้อสั่งจ้างตามที่นายคริสโตเฟอร์กรรมการจำเลยเบิกความมาแสดงต่อศาล โดยนายสุชาติเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หนังสือแจ้งการทำงานของโจทก์เป็นพยานหลักฐานเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่แสดงถึงการว่าจ้างติดตั้งกระจกชั่วคราว แต่เมื่อนายบรู๊ซ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการตกลงว่าจ้าง คงมีแต่นายชุมพลพนักงานจำเลยและนายแบรด ผู้จัดการโครงการจำเลยลงลายมือชื่อรับทราบในเอกสารเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง เมื่อนายคริสโตเฟอร์กรรมการจำเลย และนายคาร์เรน ผู้จัดการโครงการจำเลยอีกคนหนึ่งและนางสาวสุมาลี พนักงานการเงินจำเลยมาเบิกความเป็นพยานจำเลยปฏิเสธอยู่ว่าจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในส่วนนี้ โดยถ้ามีการว่าจ้างจริงจำเลยจะต้องจัดทำใบสั่งซื้อที่มีนายคริสโตเฟอร์กรรมการจำเลยลงลายมือชื่ออนุมัติการจ้างส่งไปให้โจทก์แล้ว ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งกระจกชั่วคราวนั้นรับฟังไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ในส่วนนี้ให้โจทก์อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ฎีกาจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น
ส่วนในเรื่องเงินประกันผลงานของโจทก์ที่จำเลยหักไว้ตามที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การถึงจึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามฟ้องโจทก์แล้วว่าเงินประกันผลงานของโจทก์ที่จำเลยหักไว้เป็นเงิน 2,108,837 บาท ตามฟ้อง จำเลยจะมาฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้หักเงินประกันผลงานของโจทก์นั้นไม่ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมาวินิจฉัยว่าจำเลยหักเงินประกันผลงานไว้ 902,180 บาท ก็ไม่ได้เนื่องจากไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลชั้นต้น กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) เป็นการไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) ฎีกาจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่เพียงใด ในส่วนค่าเสียหายในค่าใช้จ่าย 10 ปี ค่าเสียหายสูญเสียรายได้และค่าเสียหายต่อชื่อเสียงตามที่จำเลยฎีกา เมื่อนายคริสโตเฟอร์กรรมการจำเลยเบิกความว่า เป็นเพียงการประมาณการของจำเลยเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไกลเกินเหตุ รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายในส่วนนี้ ในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการส่วนที่เหลือ 18,010,309 บาท เห็นว่า ในการที่จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องนั้น จำเลยไม่ได้นำบุคคลที่ซ่อมแซมแก้ไขงานหรือบุคคลที่จำเลยไปเช่าวัสดุอุปกรณ์หรือไปซื้อสินค้ามาให้ใช้ในการทำงานมาเบิกความเป็นพยานจำเลยต่อศาลเลย ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลที่ต้องทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่าได้มีการซื้อสินค้าหรือมีการเช่าวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในการทำงานหรือมีการซ่อมแซมแก้ไขงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องไปแล้วหรือไม่เพียงใด ส่วนนายคริสโตเฟอร์กรรมการจำเลยที่ไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไข รวมถึงไปเช่าวัสดุอุปกรณ์และไปซื้อสินค้ามาให้ใช้ในการทำงานซึ่งน่าจะต้องทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี กลับมาเบิกความเป็นพยานจำเลยสรุปรวบยอดเอาเลยว่า จำเลยไปจ้างบุคคลอื่นซ่อมแซมแก้ไขงานเป็นเงิน 27,830,363 บาท โดยไม่ได้แยกแยะรายละเอียดว่าจำเลยไปจ้างบุคคลใดมาซ่อมแซมแก้ไขงานหรือจำเลยไปเช่าวัสดุอุปกรณ์หรือจำเลยไปซื้อสินค้ามาจากบุคคลใดมาให้ใช้ในการทำงานส่วนไหนอย่างไร กี่ครั้ง ครั้งละเท่าใด เมื่อทนายโจทก์เอาค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการที่ 1 ถึงที่ 22 ถามค้าน นายคริสโตเฟอร์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอาไปซ่อมแซมแก้ไขอาคารใดในสนามบิน บางรายการก็เป็นการซ่อมแซมแก้ไขอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตกไม่เกี่ยวกับโจทก์ดังจะเห็นได้ว่าในรายการสำรวจความเสียหายของบริษัทอาหรับ ฟาซาด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก็ระบุว่าเป็นของอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตก ส่วนนางสาวสุมาลี พนักงานการเงินของจำเลยซึ่งไม่เกี่ยวข้องในการว่าจ้างก็มาเบิกความเป็นพยานจำเลยประกอบ เพียงว่า ได้จ่ายเงินค่าจ้างไปเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการที่ 1 ถึงที่ 22 ดังกล่าว นางสาวสุมาลีก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอาไปซ่อมแซมอาคารใดในสนามบิน บางรายการก็เป็นการซ่อมแซมแก้ไขอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตกไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์เช่นกัน อีกทั้งนางสาวสุมาลียังเบิกความอีกว่า ในช่วงเกิดเหตุจำเลยก็ยังเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ไปให้ผู้รับเหมาช่วงรายอื่นของจำเลยทำการติดตั้งกระจกที่อาคารสยามพารากอนและที่อาคารสยามเซ็นเตอร์ตามที่จำเลยรับจ้างอีกด้วย กรณีจึงไม่สามารถรับฟังได้โดยแน่นอนว่าที่จำเลยไปเช่าวัสดุอุปกรณ์หรือไปซื้อสินค้าจำเลยนำไปใช้ในงานส่วนไหน เมื่อค่าใช้จ่ายค่าเช่าในรายการที่ 23 และที่ 24 นั้น ก็เป็นสวัสดิการของพนักงานจำเลยที่จำเลยต้องเช่าบ้านให้พักอาศัยอยู่แล้ว เมื่อในประเด็นค่าเสียหายแม้โจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งก็ไม่ถือว่าโจทก์ยอมรับ เนื่องจากในเรื่องค่าเสียหายต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการผิดสัญญาของโจทก์เป็นสำคัญ ดังนั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการส่วนที่เหลือเท่าจำนวนที่ปรากฏ ดังกล่าวจริง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงรายงานสำรวจความเสียหายของจำเลย ก็น่าเชื่อว่าจำเลยได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องจริง และก็ไม่ใช่จำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อนับแต่วันที่จำเลยตรวจพบความชำรุดบกพร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว จำเลยก็ยังไม่ยอมมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ หลังจากโจทก์ฟ้องแล้วจำเลยถึงเพิ่งมาฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในคำให้การ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันควรน่าเชื่อว่าจำเลยหักเงินประกันผลงานของโจทก์ไว้พอกับความเสียหายที่จำเลยได้รับแล้ว โดยถ้าโจทก์ไม่ฟ้องจำเลยก็คงไม่มาฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์การผิดสัญญาของโจทก์ประกอบแล้วจึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำเลยรวมกันไปกับค่าเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งที่รับฟังยุติเท่ากับเงินประกันผลงานเป็นเงิน 2,108,837 บาท
ส่วนในเรื่องฟ้องแย้งจำเลยขาดอายุความหรือไม่ตามที่จำเลยฎีกา เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหนี้ในหนี้ที่โจทก์ต้องชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้จำเลย แม้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่จำเลยตรวจพบความชำรุดบกพร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นเหตุให้ฟ้องแย้งจำเลยขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย แต่เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในหนี้ที่จำเลยต้องคืนเงินประกันผลงานที่จำเลยหักไว้ให้โจทก์ในจำนวนเท่ากัน (โดยเหตุที่เมื่อจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจนศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว จำเลยก็ต้องคืนเงินประกันผลงานให้โจทก์เพื่อมาหักกลบลบหนี้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยตามฟ้องโจทก์) เมื่อจำเลยแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กันตั้งแต่ในช่วงปี 2549 ถึงเดือนมกราคม 2550 ก่อนครบ 1 ปี ที่จะทำให้ฟ้องแย้งจำเลยขาดอายุความตามที่กล่าวมาแล้ว กรณีจึงมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 ส่งผลให้โจทก์จำเลยไม่มีหนี้สินในส่วนนี้ต่อกันอีก ถือว่าหนี้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยและหนี้เงินประกันผลงานของโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วด้วยการหักกลบลบหนี้ จากเหตุดังกล่าวกรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าฟ้องแย้งจำเลยจะไม่ขาดอายุความหรือไม่อย่างที่จำเลยฎีกา เนื่องจากไม่เป็นสาระคดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เมื่อเป็นดังนี้ จำเลยยังคงต้องชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 581,734 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 เมษายน 2550) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

Share