คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ว.กับส. พยานโจทก์รู้จักกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเรื่องโกรธเคืองกัน บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าข้างทางและจากบ้านทั้งสองข้างทาง และบิดามารดาของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเข้าไปห้ามปรามก็ถูกพวกจำเลยตีทำร้ายด้วย ว. ถึงได้ตะโกนให้หยุด โดยขู่ว่ามิฉะนั้นจะเอาปืนมายิง พวกจำเลยจึงได้ล่าถอยไป แสดงว่าพยานได้มีส่วนแก้ไขในเหตุการณ์ด้วย ไม่ใช่เพียงรู้เห็นเหตุการณ์อย่างเดียว ในคืนเกิดเหตุภายหลังเกิดเหตุแล้วเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพวกของจำเลยได้ พยานโจทก์ทั้งสองก็ชี้ ตัวว่าเป็นคนร้าย ต่อมาเมื่อ ส. เห็นจำเลยที่ลานสเกต ก็เป็นคน โทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยได้ที่ลานสเกต ดังกล่าว ดังนี้จึงเชื่อ ว่าพยานโจทก์ทั้งสองต้องสนใจและจำจำเลยได้ไม่ผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกอีก 4 คน ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3153/2531ของศาลชั้นต้น ได้ร่วมกันใช้ไม้ท่อนและแป๊บเหล็กเป็นอาวุธตีนายวิเชียร สังคะนอง จนถึงแก่ความตายโดยเจตนาเหตุเกิดที่แขวงจอมทอง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม2531 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้นำส่งพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 วางโทษจำคุก 18 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นยืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531 เวลาประมาณ 20นาฬิกา ขณะที่นางวันเพ็ญ ไทรชมภู กำลังนั่งเล่นกับบุตรอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน ได้ยินเสียงวิ่งไล่กวดกันมาและมีเสียงพูดว่า “ตีให้ตาย”นางวันเพ็ญออกไปดูส่วนนายสัมฤทธิ์ ไทนชมภู กำลังเดินออกจากบ้านจะไปหาเพื่อ นางวันเพ็ญและนายสัมฤทธิ์เห็นจำเลย นายสุรินทร์หรือโต้งไหวพริบ นายสะอาดหรืออาจ ทองประเสริฐ นักเรียนนายสิบสมพงษ์หรือตุ้ม ทองประเสริฐ และนายจิตหรือวิจิตร สาเรือง กำลังกลุ้มรุมใช้ไม้บ้างเหล็กบ้างเป็นอาวุธตีนายวิเชียร สังคะนอง ผู้ตายนางวันเพ็ญตะโกนให้หยุดโดยขู่ว่าหากไม่หยุดจะเอาปืนมายิงจำเลยกับพวกจึงวิ่งหลบหนีไปจากนั้นายสัมฤทธิ์นำผู้ตายส่งโรงพยาบาล แล้วไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางมด ต่อมาวันที่ 19สิงหาคม 2531 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ นำส่งพันตำรวจตรีประยุทธ ชวนะ พนักงานสอบสวน ชั้นจับกุมและสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยให้การปฏิเสธ พ้นตำรวจตรี>ประยุทธได้สอบปากคำนางวันเพ็ญและนายสัมฤทธิ์กับให้ดูตัวจำเลยแล้วนางวันเพ็ญและนายสัมฤทธิ์ยืนยันชี้ตัวว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกันฆ่าผู้ตาย ปรากกตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2
จำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531 เวลาประมาณ 20นาฬิกา จำเลยนั่งอยู่กับนายวิเชียร สีดาฤกษ์ นายสมพงษ์ ทองประเสริฐนายสนั่นและนายเกษมไม่ทราบนามสกุล พร้อมหญิงอีก 2-3 คน ไม่ทราบชื่อที่หน้าร้านค้าของนายสนั่นห่างไปประมาณ 10 เมตร เป็นที่ตั้งของกองผ้าป่าที่ผู้ตาย นายบุญรอด ผิวงาม นายห่อ ไทนชมภู นายโทนไม่ทราบนามสกุลและชายอีกคนหนึ่งไม่ทราบชื่อนั่งดื่มสุรากันอยู่ครู่หนึ่งก็มีการชุลมุนไล่ตีกันในกลุ่มที่ผู้ตายนั่งดื่มสุรากัน แล้ววิ่งไล่กันเข้าไปในซอยจำเลยกับพวกวิ่งตามไปดูเมื่อเหตุการณ์เลิกแล้วจำเลยก็กลับบ้าน ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2531 จำเลยไปเล่นสเกตที่ลานสเกตดาวคะนองก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่า จำเลยได้กระทำตามฟ้องโจทก์หรือไม่โจทก์มีพยานคือ นางวันเพ็ญ ไทรชมภูและนายสัมฤทธิ์ ไทรชมภูซึ่งเป็นญาติกับผู้ตายเบิกความต้องกันว่าพวกที่กลุ้มรุมทำร้ายผู้ตายมีจำเลย นายตุ้ม นายโต้ง นายจิต และนายอาจ มีข้อพิจารณาต่อไปว่าพยานโจทก์ทั้งสองสามารถจดจำจำเลยได้แน่นอนเพียงใด ได้ความว่าพยานโจทก์ทั้งสองรู้จักกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเรื่องโกรธเคืองกันบริเวณที่เกิดเหตุที่แสงไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าข้างทางและจากบ้านทั้งสองข้างทาง และบิดามารดาของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเข้าไปห้ามปรามก็ถูกพวกจำเลยตีทำร้ายด้วยนางวันเพ็ญถึงได้ตะโกนให้หยุด โดยขู่ว่ามิฉะนั้นจะเอาปืนมายิงพวกจำเลยจึงได้ล่าถอยไป แสดงว่าพยานได้มีส่วนแก้ไขในเหตุการณ์ด้วยไม่ใช่เพียงรู้เห็นเหตุการณ์อย่างเดียวในคืนเกิดเหตุภายหลังเกิดเหตุแล้วเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพวกของจำเลยได้ พยานโจทก์ทั้งสองก็ชี้ตัวว่าเป็นคนร้าย ต่อมาเมื่อนายสัมฤทธิ์เห็นจำเลยที่ลานสเกตดาวคะนองก็เป็นคนโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยได้ที่ลานสเกตดังกล่าว ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุที่เกิดขึ้นพัวพันกับบิดามารดาและญาติของพยานโจทก์ทั้งสอง จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองต้องสนใจและจำจำเลยได้ไม่ผิด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำผิดตามฟ้องพยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share