แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 86 และมาตรา 86/13 ผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้คือ ผู้ประกอบการจดทะเบียนเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการอื่นที่มิได้จดทะเบียน แม้จะประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ก็ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี และหากผู้ประกอบการซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนฝ่าฝืนออกใบกำกับภาษี มาตรา 88/1 ก็บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้
บริษัท พ. ขายสินค้าให้โจทก์มีราคาถึง 4,300,000 บาท การประกอบการของบริษัทดังกล่าวจึงมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและมูลค่าของฐานภาษีของกิจการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/12 แห่ง ป. รัษฎากร (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2534 กำหนดไว้ไม่เกิน 600,000 บาท ดังนั้น บริษัท พ. จึงเป็นผู้ประกอบการที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ปรากฏว่าบริษัท พ. มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พ. จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่โจทก์ การที่บริษัท พ. เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์เป็นเงิน 301,000 บาท จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ และออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีหน้าที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท พ.
ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 82/4 วรรคท้าย มีความหมายว่าหากเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนเรียกเก็บแล้ว ย่อมไม่เป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้านั้น ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัท พ. ไปแล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายของโจทก์ตามมาตรา 82/3 ได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 82/5 เนื่องจากบริษัท พ. ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับโจทก์ แม้โจทก์จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท พ. ไปโดยสุจริต เนื่องจากเข้าใจว่าบริษัทดังกล่าวมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้โจทก์ได้โดยชอบก็ตาม แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าบริษัท พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาของโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์มิได้ตรวจสอบถือเป็นความบกพร่องของโจทก์ส่วนหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะว่ากล่าวเอากับบริษัท พ. เอง โจทก์จะนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายของโจทก์ไม่ได้ เมื่อโจทก์นำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขาย จึงมีผลเท่ากับโจทก์เสียภาษีไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไม่ครบถ้วนดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.73.1 เลขที่ 3015240/5/100521 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2540 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ. 3 (อธ. 2)/250/2541 ลงวันที่ 1 เมษายน 2541
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.73.1 เลขที่ 3015240/5/100521 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2540 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ส.ภ. 3(อธ. 2)/250/2541 ลงวันที่ 1 เมษายน 2541 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 86 และมาตรา 86/13 ผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้คือ ผู้ประกอบการจดทะเบียนเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการอื่นที่มิได้จดทะเบียน แม้จะประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง ป. รัษฎากร ก็ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและหากผู้ประกอบการซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนฝ่าฝืนออกใบกำกับภาษี ป. รัษฎากร มาตรา 88/1 ก็บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด ขายสินค้าให้โจทก์มีราคาถึง 4,300,000 บาท การประกอบการของบริษัทดังกล่าวจึงมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และมูลค่าของฐานภาษีของกิจการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/12 แห่ง ป. รัษฎากร (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2534 กำหนดไว้ไม่เกิน 600,000 บาท ดังนั้น บริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด จึงเป็นผู้ประกอบการที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ปรากฏว่าบริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่โจทก์ การที่บริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์เป็นเงิน 301,000 บาท จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ และออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีหน้าที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด ป. รัษฎากร มาตรา 82/4 วรรคท้าย มีความหมายว่า หากเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนเรียกเก็บแล้ว ย่อมไม่เป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้านั้น ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด ไปแล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายของโจทก์ตามมาตรา 82/3 ได้ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับโจทก์ แม้โจทก์จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด ไปโดยสุจริต เนื่องจากเข้าใจว่าบริษัทดังกล่าวมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้โจทก์ได้โดยชอบก็ตาม แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าบริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาของโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์มิได้ตรวจสอบถือเป็นความบกพร่องของโจทก์ส่วนหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะว่ากล่าวเอากับบริษัทเพอร์มาคอนสตรัคชัน จำกัด เอง โจทก์จะนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายของโจทก์ไม่ได้ เมื่อโจทก์นำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายจึงมีผลเท่ากับโจทก์เสียภาษีไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไม่ครบถ้วนดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่มได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.