คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 76 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูง 15 ปี เมื่อศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยในเรื่องทนายเสียก่อนเริ่มพิจารณา แต่ดำเนินการพิจารณาไปโดยจำเลยไม่มีทนาย แล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นการพิจารณาฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ปฏิบัติเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5จำนวน 133 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 26, 76, 102, 103และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหนัก133 กรัมเท่านั้น แสดงว่าจำเลยมิได้เพื่อจำหน่าย พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคแรก จำคุก6 เดือน รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ริบของกลาง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 76 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26, 76 วรรคสอง จำคุก 2 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองเพียง 133 กรัมหาได้มีปริมาณตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไปอันมาตรา 26 วรรคสอง ให้ถือว่ามีไว้ในคอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 76 มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 15 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 บัญญัติว่า ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปก่อนเริ่มพิจารณา ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการก็ให้ศาลตั้งทนายให้ ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเสียก่อนเริ่มพิจารณา แต่ได้ดำเนินการพิจารณาไปโดยจำเลยไม่มีทนายแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยอีกโดยไม่ได้ให้ศาลชั้นต้นจัดการเรื่องทนายเสียให้ถูกต้องจึงเป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายที่กล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ปฏิบัติเสียให้ถูกต้อง

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาเสียให้ถูกต้อง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share