แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ในคดีดังกล่าวมีฐานะเป็นนิติบุคคล การซื้อขายสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจจากองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้อ้างว่า จำเลยที่ 1 (โจทก์ในคดีก่อน) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย การซื้อขายสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจจากองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่ไม่อาจถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำสำหรับจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำการสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันจดทะเบียนปลอดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6656 เลขที่ดิน 33 และโฉนดเลขที่ 6386 เลขที่ 34 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และคืนต้นฉบับโฉนดที่ดินแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 500,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบที่ดินคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เอกสารในสำนวนสารบัญอันดับที่ 13 ทนายโจทก์ได้แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ของศาลชั้นต้นและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ดังปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ของศาลชั้นต้น ท้ายคำร้อง ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ลงวันที่ 21 มกราคม 2551 เอกสารในสำนวนสารบัญอันดับที่ 10/8 เมื่อตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติข้อห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวห้ามทั้งคู่ความในคดีทุกฝ่ายและศาลเองมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอีกอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีที่ศาลใดได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว เว้นแต่ข้อสำคัญที่ว่าหากคดีก่อนคู่ความฝ่ายใดมิได้เป็นคู่ความในคดี ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ของศาลชั้นต้นคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ส่วนโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ต่างเป็นคู่ความในคดีก่อนคือ คดีหมายเลขแดงที่ 15029/2551 ของศาลชั้นต้น จึงต้องพิจารณาต่อไปถึงความหมายของ “กระบวนพิจารณา” อันมีนิยามในมาตรา 1 (7) ให้ความหมายว่า “การกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้” ถ้าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็น ซึ่งศาลนั้นได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดมาแล้ว ย่อมเป็นการซ้ำกัน ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ของศาลชั้นต้น ที่วินิจฉัยชี้ขาดไว้ว่า จำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวมีฐานะเป็นนิติบุคคล การซื้อขายสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และในคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนฟ้องคดีนี้อ้างว่า จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ (ซึ่งคือโจทก์ในคดีดังกล่าว) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย การซื้อขายสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ของศาลชั้นต้น และคำฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลตามคำนิยามในมาตรา 1 (7) ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 15029/2545 ท้ายคำร้องลงวันที่ 21 มกราคม 2551 ว่า ศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นดังกล่าวแล้ว ดังนั้นคำฟ้องโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ในประการนี้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า คดีเดิมศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยรายละเอียดการจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมของจำเลยที่ 1 ไม่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจจัดการกองทุนรวมจำเลยที่ 1 หรือไม่ และประเด็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยเพียงผิวเผินว่า โจทก์รับซื้อและรับโอนสินทรัพย์สินเชื่อมาโดยมิได้วินิจฉัยรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนนั้น จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นในคดีก่อน เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลในคดีก่อน โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาในคดีเดิม การนำประเด็นในคดีเดิมที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วมาฟ้องเป็นคดีใหม่ ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
สำหรับคดีของจำเลยที่ 2 ซึ่งหาใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วนั้น เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษา ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เพียงว่า “คดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวม…” เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนปลอดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6656 และ 6386 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และคืนต้นฉบับโฉนดที่ดินแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ และไม่มีกรณีที่จะพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะกรณีตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจดทะเบียนปลอดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6656 และ 6386 และคืนต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ