แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่290ข้อ2ได้บัญญัติให้จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยขึ้นและให้เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใดๆตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษและในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ6ข้อ13ข้อ15และข้อ17บัญญัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยมีอำนาจซื้อจัดหาถือกรรมสิทธิ์ครอบครองหรือดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยโดยมีผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหน้าที่บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยและในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษโดยมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยและถือว่าผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยและตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิตพ.ศ.2534มีวัตถุประสงค์ที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์โดยมาตรา4แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษดังนั้นการดำเนินการเวนคืนเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างทางพิเศษจึงเป็นกิจการในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยเมื่อผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530เพื่อสร้างทางพิเศษตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยจึงเป็นการดำเนินการในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และในฐานะผู้แทนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยด้วยเมื่อโจทก์เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนอันเป็นกิจการส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยได้ ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ดพ.ศ.2530เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์แต่เนื่องจากการสำรวจที่ดินที่จะเวนคืนยังไม่แล้วเสร็จและพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวสิ้นอายุจึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิตพ.ศ.2534มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่1มกราคม2535เป็นต้นไปดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่อยู่ในเขตที่จะเวนคืนจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการดำเนินการเพื่อเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่2 หลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้นมาตรา21วรรคหนึ่ง(1)แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21ดังกล่าวให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา6ซึ่งในกรณีนี้คือในวันที่1มกราคม2535รวมทั้งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อื่นๆในมาตรา21วรรคหนึ่ง(2)ถึง(5)แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเว้นคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ประกอบด้วยเมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดค่าทดแทนเวนคืนที่ดินของโจทก์เท่ากับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ประกาศใช้เมื่อวันที่1มกราคม2535ราคาดังกล่าวเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินเพียงประการเดียวซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบประการหนึ่งในการกำหนดราคาค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21(3)จึงยังถือไม่ได้ว่าการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เป็นการกำหนดราคาค่าทดแทนโดยชอบและเป็นธรรม โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่5มีนาคม2536ตามเอกสารหมายล.12นับแต่วันดังกล่าวไปอีก120วันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่3กรกฎาคม2536อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา26วรรคสามโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ8.5ต่อปีตามคำขอของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ8.5ต่อปีคงที่นับแต่วันที่11พฤษภาคม2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6205ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) อำเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 88 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 334/5 โรงรถยนต์และไม้ยืนต้นจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์อยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวันเขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลมและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2534 ทั้งแปลงเพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 60,000 บาทเป็นเงิน 5,280,000 บาท ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้นและค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน1,624,296.06 บาท จำนวนเงินค่าทดแทนที่กำหนดให้ดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้คำนึงถึงราคาของที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด สภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินตลอดจนเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 300,000 บาทเนื้อที่ 88 ตารางวาเป็นเงิน 26,400,000 บาท จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว 5,280,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก 21,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2536 อันเป็นวันที่จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,346,400 บาท รวมเป็นเงิน 22,466,400บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทน 22,466,400 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี จากเงิน 21,120,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทน มิได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และผู้พิจารณาอุทธรณ์ค่าทดแทน ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดจำนวนค่าทดแทนเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายโดยเห็นว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด เพราะเป็นการประเมินเป็นรายแปลงโดยตรวจสอบจากสภาพทำเลที่ต้องและลักษณะการใช้ที่ดิน ประกอบกับราคาซื้อขายกันในท้องตลาดย้อนหลัง 3 ปี ราคาของธนาคารพาณิชย์และสอบถามราคาจากเจ้าของที่ดินนำมาเปรียบเทียบกัน ที่ดินของโจทก์มีราคาประเมินตารางวาละ 60,000 บาท คณะกรรมการดังกล่าวจึงกำหนดค่าทดแทนเท่ากับราคาดังกล่าวซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันไม่ถึงตารางวาละ 300,000 บาทจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนเพิ่ม และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินไม่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 3,520,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2536จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์จำนวน 5,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6205 ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) อำเภอพญาไท (ดุสิต)กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 88 ตารางวา และบ้านเลขที่ 334/5โรงรถยนต์กับไม้ยืนต้นซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษวันที่ 1 มกราคม 2531 มีการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 กำหนดแนวเขตเวนคืนที่ดินในท้องที่ดังกล่าวเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ โดยกำหนดให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2535มีการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิเขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวาพ.ศ. 2534 กำหนดให้ผู้ว่าทางการพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ ต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมดังกล่าว เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมหมดอายุลงและการสำรวจเวนคืนที่ยังไม่แล้วเสร็จ ที่ดินโฉนดเลขที่ 6205 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์อยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ทั้งแปลง จำนวนเนื้อที่ 88 ตารางวาคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ 60,000 บาท รวมเป็นเงิน5,280,000 บาท บ้านเลขที่ 334/5 เป็นเงิน 1,592,706.06 บาทไม้ยืนต้นเป็นเงิน 11,490 บาท และค่าทดแทนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 20,100 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 6,904,296.06 บาท จำเลยได้มีหนังสือแจ้งราคาค่าทดแทนเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไปให้โจทก์ทราบโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาขอรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวโดยสงวนสิทธิที่จะอุทธรณ์ขอเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มเติม และต่อมาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว แต่มิได้วินิจฉัยภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การกระทำทั้งหลายที่เกี่ยวกับการเวนคืนเป็นการกระทำในนามหรือแทนผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่เวนคืน มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลยจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษเท่านั้นซึ่งการจัดให้มีทางพิเศษจะต้องมีกฎหมายกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนจำเลยมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนนั้น เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 2 ได้บัญญัติให้จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยขึ้น และให้เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ และในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 6 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 17 บัญญัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย มีอำนาจซื้อ จัดหา ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองหรือดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย โดยมีผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหน้าที่บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย และในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย จึงมีอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษโดยมีผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย และถือว่าผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยและตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิตเขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตคลองเตยเขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2534 มีวัตถุประสงค์ที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ โดยมาตรา 4แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ ดังนั้นการดำเนินการเวนคืนเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างทางพิเศษจึงเป็นกิจการในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย เมื่อผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยจึงเป็นการดำเนินการในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และในฐานะผู้แทนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยด้วยเมื่อโจทก์เห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนอันเป็นกิจการส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปเป็นประการที่สองตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 6205ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) อำเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานครของโจทก์ เนื้อที่ 88 ตารางวา อยู่ในเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขนเขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวาเขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์แต่เนื่องจากการสำรวจที่ดินที่จะเวนคืนยังไม่แล้วเสร็จและพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวสิ้นอายุจึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิตเขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตคลองเตยเขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่อยู่ในเขตที่จะเวนคืนจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการดำเนินการเพื่อเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 2ซึ่งในกรณีที่เกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมิน ทุนทรัพย์ เพื่อ เรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมใน การ จดทะเบียน สิทธิ และ นิติกรรม
(4) สภาพ และ ที่ ตั้ง ของ อสังหาริมทรัพย์ นั้น และ
(5) เหตุ และ วัตถุประสงค์ ของ การ เวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงต้องพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 ดังกล่าว สำหรับหลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้น มาตรา 21วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ซึ่งในกรณีนี้คือในวันที่ 1 มกราคม2535 รวมทั้งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อื่น ๆ ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ประกอบด้วย ซึ่งในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยนำสืบโดยมีนางสาวระพีพรรณ เหมบุญเจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เบิกความว่า การประชุมของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ครั้งที่ 1/2535 ตามเอกสารหมาย ล.6 จำเลยได้เสนอหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ต่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ โดยในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนเวนคืนที่ดินนั้นได้เสนอให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นเกณฑ์ในที่ประชุมดังกล่าวผู้แทนกรมที่ดินได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ราคาประเมินทุนทรัพย์ดังกล่าวได้พิจารณาราคาที่ดินเป็นรายแปลงโดยคำนึงถึงทำเลที่ตั้ง การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การสอบถามราคาจากเจ้าของที่ดินและธนาคารพาณิชย์ ราคาซื้อขายในท้องตลาดย้อนหลัง 3 ปีจากนั้นนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยเป็นราคาประเมินของที่ดินในปี 2535ผู้แทนของกรมที่ดินให้ความเห็นว่า ราคาประเมินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย และจำเลยมีนายยุทธชัยพันธุวัฒนา เจ้าหน้าที่ประเมินราคาทรัพย์สิน 6 สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินของกรมที่ดินเบิกความว่า การประเมินราคาที่ดินมีสองประเภท คือ ประเมินเป็นรายแปลงและประเมินเป็นรายบล็อกซึ่งเป็นการประเมินราคาที่ดินเป็นกลุ่ม ปัจจุบันกรมที่ดินได้ประเมินราคาที่ดินเป็นรายแปลง เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้นการประเมินราคาที่ดินนั้นพิจารณาจากข้อมูลการซื้อขายที่จดทะเบียนไว้ที่สำนักงานที่ดินไม่เกิน 3 ปี ขั้นตอนที่สอง สืบหาราคาที่มีการซื้อขายจริงในท้องตลาดรวมทั้งการตรวจสภาพที่ดิน เช่นทำเลที่ตั้ง รูปแปลงที่ดิน การพัฒนาที่ดินเพื่อประกอบการประเมินราคาจะมีการสำรวจทุก ๆ 4 ปี โดยจะมีการสำรวจเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้วจึงจะประกาศ 1 ครั้ง ข้อมูลของกรมที่ดินได้มาจากนักจัดสรรที่ดินนายหน้าซื้อขายที่ดิน เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว กรมที่ดินจะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียมราคาที่ดินและเปรียบเทียบกับราคาตลาดในปีที่ประเมินจึงจะออกมาเป็นราคาประเมินของกรมที่ดิน กรณีดังกล่าวใช้ทั้งสองแบบ คือแบบประเมินเป็นรายแปลงและประเมินเป็นรายบล็อกหรือกลุ่มที่ดินตามคำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอันได้ความว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดค่าทดแทนเวนคืนที่ดินของโจทก์เท่ากับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 แม้จำเลยจะนำสืบว่า ราคาประเมินทุนทรัพย์ดังกล่าวได้พิจารณาราคาที่ดินเป็นรายแปลงโดยได้มีการตรวจสภาพที่ดินและพิจารณาถึงทำเลที่ตั้ง รูปแปลงที่ดินการพัฒนาที่ดิน การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การสอบถามราคาจากเจ้าของที่ดินและธนาคารพาณิชย์ ราคาซื้อขายในท้องตลาดย้อนหลัง3 ปี จากนั้นนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยเป็นราคาประเมินของที่ดินในปี 2535 ราคาประเมินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินราคาทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์ที่ได้มาจากคำชี้แจงของผู้แทนกรมที่ดินดังปรากฏตามคำเบิกความของนางสาวระพีพรรณและเอกสารหมาย ล.6 ประกอบกับคำเบิกความของนายยุทธชัยเจ้าหน้าที่ประเมินราคาทรัพย์สิน 6 ของกรมที่ดินที่จำเลยนำมาเบิกความสนับสนุน แต่จำเลยหาได้นำพยานหลักฐานอื่นมานำสืบประกอบคำเบิกความของพยานจำเลยถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาและนำมาใช้ในการพิจารณากำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อันจะเป็นการยืนยันว่า การกำหนดราคาประเมินที่ดินของโจทก์ถูกต้องแต่ประการใดไม่ และที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้มีมติให้ใช้หลักเกณฑ์การคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535ของกรมที่ดินคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ก็หาได้พิจารณาข้อมูลอันเป็นฐานแห่งการกำหนดราคาดังกล่าวแต่ประการใดไม่คงอาศัยแต่เพียงคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเท่านั้นดังปรากฏจากคำเบิกความของนางสาวระพีพรรณว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ รับฟังเพียงความเห็นของกรมที่ดินเท่านั้นมิได้มีการเรียกเอาเอกสารสัญญาซื้อขายซึ่งจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน และเอกสารเกี่ยวกับราคาซื้อขายของที่ดินย้อนหลังไป 3 ปี มาพิจารณากันในที่ประชุม นอกจากนี้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ มิได้นำองค์ประกอบประการอื่นตามมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาประกอบการพิจารณาด้วยไม่ และเมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายจิระสักดิ์ เปมะศิริ หัวหน้าสำรวจและรังวัดกองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เบิกความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ปค.82/2537 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคู่ความยินยอมให้นำมาเป็นหลักฐานในคดีนี้แล้วเห็นว่า ตามคำเบิกความของนายจิระสักดิ์ได้ความว่า บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535ของกรมที่ดิน ที่ดินหมายเลข 509 กำหนดไว้ ราคาตารางวาละ70,000 บาท ส่วนที่ดินของโจทก์มีที่ดินหมายเลข 508 คั่นอยู่เพียงแปลงเดียวและตามคำเบิกความของนายประสิทธิพร ธรรมสโรชเจ้าของที่ดินหมายเลข 509 ก็เบิกความว่า ที่ดินของตนหมายเลข 509ห่างจากที่ดินของโจทก์หมายเลข 452 เพียง 10 เมตรเศษเป็นที่เห็นได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงห่างกันเพียง 10 เมตรเศษแต่ราคาประเมินของกรมที่ดินแตกต่างกันถึง 10,000 บาท และเมื่อพิจารณาประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ประกาศ ณ วันที่10 มิถุนายน 2534 เอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 3 และแผ่นที่ 4ก็ปรากฏว่าได้กำหนดราคาที่ดินของโจทก์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินไว้ในราคาตารางวาละ70,000 บาท ซึ่งเป็นบัญชีราคาประเมินที่ดินเมื่อเดือนกันยายน 2533ก็ยังมีราคาสูงกว่าราคาที่กรมที่ดินกำหนดในปี 2535 จึงยังฟังไม่ได้ว่า ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535 ของกรมที่ดิน เป็นราคาที่ได้พิจารณาตามองค์ประกอบครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ตามที่จำเลยนำสืบคงฟังได้แต่เพียงว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินเพียงประการเดียวซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบประการหนึ่งในการกำหนดราคาค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(3)จึงยังถือไม่ได้ว่าการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เป็นการกำหนดราคาค่าทดแทนโดยชอบและเป็นธรรมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ปัญหาต่อไปจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใด ในปัญหาดังกล่าวโจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติสูงกว่าตารางวาละ 300,000 บาทโดยมีตัวโจทก์ นายประสิทธิพร ธรรมสโรช น้าของโจทก์ และพันเอกประสาน แรมวัลย์ บิดาของโจทก์เป็นพยานเบิกความถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 โดยโจทก์เบิกความว่า ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2536 ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 250,000 บาทโจทก์ทราบจากหนังสือพิมพ์บ้านเมืองว่าในปี 2534 ที่ดินที่อยู่ติดถนนพญาไท ในเขตราชเทวี มีราคาประเมินตารางวาละ250,000 บาท ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในท้องตลาดสูงกว่าตารางวาละ 300,000 บาท ปี 2537 มีการประกาศขายที่ดินของหลวงปริญญาโยควิบูลย์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ดินของโจทก์มีคลองแสนแสบกั้นที่ดินดังกล่าวอยู่ติดซอยเกษมสันต์ประกาศขายตารางวาละ 450,000 บาท แต่มีการตกลงซื้อขายกันตารางวาละ350,000 บาท ในปี 2536 โรงแรมเอเซียขอซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดต่อกับที่ดินของโรงแรมตารางวาละ 500,000 บาท แต่ไม่มีเจ้าของที่ดินรายใดขายให้ ส่วนนายประสิทธิพรเบิกความว่า เพื่อนของพยานเคยติดต่อขอให้พยานกับญาติร่วมกันขายที่ดินทุกแปลงบริเวณนั้นเพื่อทำศูนย์การค้าโดยจะซื้อตารางวาละไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทแต่เมื่อมีข่าวการเวนคืนจึงไม่มีการซื้อที่ดิน ในปี 2534ที่ดินติดถนนพญาไทในเขตราชเทวีมีราคาประเมินตารางวาละ250,000 บาท และพันเอกประสานเบิกความว่า เพื่อนของพยานไม่ทราบชื่อจริงได้มาติดต่อขอซื้อที่ดินของโจทก์และที่ดินข้างเคียงเพื่อทำเป็นศูนย์การค้าเสนอราคาตารางวาละ 300,000 บาทนอกจากนี้พยานทราบว่าราคาที่ดินแถวประตูน้ำประกาศขายราคาตารางวาละ 600,000 บาท คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวล้วนแต่เป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนและไม่ปรากฏพยานเอกสารที่แสดงว่ามีการตกลงซื้อขายกันตามที่เบิกความ และที่โจทก์เบิกความถึงข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเอกสารหมาย จ.12 ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นราคาที่กรมที่ดินประกาศใช้จริงหรือไม่ และราคาดังกล่าวก็เป็นการกล่าวถึงราคาประเมินสูงสุดและต่ำสุดของที่ดินในแต่ละเขตโดยไม่ปรากฏที่ตั้งและสภาพของที่ดินดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดในราคาที่โจทก์นำสืบ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยไม่อาจนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์เป็นราคาเท่าใด ศาลฎีกาได้พิจารณาถึงราคาที่ดินของโจทก์ในปี 2535 ที่บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินกำหนดไว้ตารางวาละ 60,000 บาท ประกอบกับที่ตั้งที่ดินของโจทก์ติดคลองมหานาคหรือคลองแสนแสบทางทิศใต้แต่ไม่สามารถใช้สัญจรทางน้ำได้ ส่วนทิศเหนือติดที่ดินโฉนดเลขที่ 8157 ซึ่งมีสภาพเป็นซอยกว้าง 4-5 เมตร ออกสู่ถนนพญาไทบริเวณเชิงสะพานหัวช้างหรือสะพานเฉลิมหล้าซึ่งถนนดังกล่าวมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 5 คน มิใช่ซอยสาธารณะและที่ดินของโจทก์อยู่ห่างถนนพญาไทประมาณ 150 เมตร โดยอยู่สุดซอยดังกล่าวแม้บริเวณใกล้เคียงที่ดินของโจทก์มีศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้ามาบุญครอง โรงแรมเอเชียและโรงภาพยนตร์ ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในทำเลที่ดีพอสมควร แต่ที่ดินของโจทก์ก็มิได้อยู่ริมถนนพญาไท และมีเนื้อที่เพียง 88 ตารางวาไม่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริงเมื่อคำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษซึ่งมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางประกอบด้วยแล้ว เห็นว่า ราคาค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์สำหรับที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนราคาตารางวาละ 100,000 บาท เป็นราคาที่เป็นธรรมและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ราคาค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ตารางวาละ120,000 บาท สูงเกินไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มอีกตารางวาละ 40,000 บาท ที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 88 ตารางวาเป็นเงิน 8,800,000 บาท หักค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับไปแล้ว5,280,000 บาท คงเหลือค่าทดแทนที่โจทก์มีสิทธิได้รับเพิ่มเป็นเงิน 3,520,000 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใด และเมื่อใด โดยจำเลยฎีกาว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี สูงเกินไปและจำเลยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์นั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า”ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย” ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่5 มีนาคม 2536 ตามเอกสารหมาย ล.12 นับแต่วันดังกล่าวไปอีก 120 วันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ คือวันที่3 กรกฎาคม 2536 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี คงที่ นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทน เพิ่ม3,520,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยชำระเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์