คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทราบวันนัดแล้วไม่มาศาล ดังนี้ ไม่ใช่การขาดนัดพิจารณาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 ประกอบด้วยมาตรา 1(10) จำเลยไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่

ย่อยาว

ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาในชั้นนี้สืบเนื่องมาจากเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ที่ศาลจังหวัดระนอง ศาลจังหวัดระนองส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ที่ศาลแพ่ง เมื่อสืบพยานเสร็จส่งประเด็นคืนไปศาลจังหวัดระนองแล้ว ศาลจังหวัดระนองนัดฟังประเด็นกลับ จำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาล คงมาแต่ฝ่ายโจทก์ โจทก์ตกลงไม่ติดใจสืบพยานต่อไป ศาลจังหวัดระนองจึงนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 24 ธันวาคม 2516 เวลา 8.30 นาฬิกา และได้แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบ ถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาล ศาลจังหวัดระนองมีคำสั่งว่า โจทก์จำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาล จึงถือว่าฝ่ายจำเลยไม่ติดใจสืบพยานจำเลย คดีเสร็จสำนวนให้นัดฟังคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2517 จำเลยยื่นคำร้องใจความว่า จำเลยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถมาเบิกความตามวันนัดได้ ฯลฯ ขอให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยไปอีกนัดหนึ่ง ศาลจังหวัดระนองยกคำร้อง ในที่สุดศาลจังหวัดระนองให้ถือว่าจำเลยซึ่งไม่มาศาลได้รับทราบคำพิพากษาที่ชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีในวันที่ 28 มีนาคม 2517 อันเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาแล้วหลังจากจำเลยได้รับคำบังคับของศาลแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนอง ขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ศาลสั่งว่าจะขอพิจารณาใหม่ไม่ได้ ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลจังหวัดระนองว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 และ 202 จึงต้องบังคับตามมาตรา 207 จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(10)วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “วันสืบพยาน” หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน คดีนี้ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว นัดสืบพยานจำเลยจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยนั้น กรณีไม่ใช่เป็นการขาดนัดพิจารณาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 197 ประกอบด้วยมาตรา 1(10) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่

พิพากษายืน

Share