คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1495/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยนำราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ และเห็นว่าค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับดังกล่าวน้อยกว่าราคาที่ดินส่วนที่เหลือที่มีราคาเพิ่มขึ้น เมื่อนำมาหักกลบลบกันแล้วค่าทดแทนที่ดินย่อมหมดไป คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯจึงมีมติไม่จ่ายค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ คงจ่ายให้เฉพาะค่าทดแทนอาคาร ค่าถมดินค่าพื้นคอนกรีต และค่าพืชผลต้นไม้ เมื่อปรากฏว่าในวันที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯมีการประชุมลงมตินั้น มีประกาศคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น การกำหนดค่าทดแทนจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ดังนั้น ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ จึงต้องคำนึงถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด สภาพและสถานที่ตั้งของที่ดินมาประกอบการพิจารณาด้วยการที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯไม่ได้คำนึงถึงข้อนี้ในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์จึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา21 วรรคสองและวรรคสาม เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้ว หากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21 ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 เท่านั้น แม้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสอง หรือราคาลดลงตามวรรคสามออกใช้บังคับตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21วรรคสอง และวรรคสามใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นหากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้ว จำเลยทั้งสองและศาลย่อมนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับได้
เมื่อจำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวว่ามีอัตราเท่าใด เพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น

Share