แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 4 ทวิ, 19, 20 ทวิ, 20 ตรี, 29 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 7, 12 จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงตามฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 4 ทวิ, 14, 20 ทวิ, 29 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 7, 12 ดังนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลอุทธรณ์ไม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 20 ตรี (ฐานรับไว้หรือมีไว้ซึ่งเฮโรอีน) ก็ต้องไม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 7 อันเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มเติมมาตรา 20 ตรีไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2465 มาตรา 4 ทวิ, 14, 20 ทวิพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6 (ตัดมาตรา 29 และ 12 ของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับออกเสียด้วย เพราะของกลางที่ริบมีแต่เฮโรอีน ซึ่งมิได้ริบโดยอาศัยมาตรา 29 และ 12)
การที่ไม่ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 20 ตรี ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2504 มาตรา 7 นั้น เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษตามมาตราดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๔ ทวิ, ๑๔, ๒๐ ทวิ, ๒๐ ตรี, ๒๙พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๔, ๖,๗, ๑๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๐, ๙๑ และขอให้ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดจริงตามฟ้องพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๔ ทวิ, ๑๙, ๒๐ ทวิ, ๒๐ ตรี, ๒๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๔, ๖, ๗, ๑๒ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๑๐ ปี ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๕ ปี ของกลางริบ
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำผิดจริงตามฟ้องแต่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๔ ทวิ, ๑๔, ๒๐ ทวิ, ๒๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๔, ๖, ๗, ๑๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๒๐ ตรีแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๗ อันเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มเติมมาตรา ๒๐ ตรี ไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ ไม่ถูกต้อง การที่ไม่ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๒๐ ตรี ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๗ นั้น เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษตามมาตราดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๔ ทวิ, ๑๔, ๒๐ ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๔, ๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์