คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1492/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อที่ว่า ถ้าสัญญาต้องเลิกกันผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของ จนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นการกำหนดความรับผิดของผู้เช่าซื้อนอกเหนือไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 574 วรรคหนึ่ง ซึ่งมิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379 ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้เหมาะสมได้เองตามมาตรา 383 วรรคหนึ่งไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 410,298 บาทตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 42 งวด งวดละ 9,769 บาท ต่อเดือนเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 มีนาคม 2539 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ หากผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยจำเลยที่ 2และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 20พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นมา โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วแต่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ ต่อมาโจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพชำรุดและนำออกประมูลขายได้เงิน 168,224.30 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดราคา 163,621.70 บาท แต่ขอคิดเพียง 163,621 บาทค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนบอกเลิกสัญญา 6 งวด เป็นเงิน58,614 บาท ค่าติดตามรถยนต์คืน 3,500 บาท ค่าจ้างลากรถยนต์ 1,600 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 227,635 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 227,635 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน74,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน74,600 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 อ-2858กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 410,298 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 42 งวด งวดละ 9,769 บาท ต่อเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 มีนาคม 2539 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อและนำออกประมูลขายไปแล้ว สำหรับค่าเสียหายเป็นค่าติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อและค่าลากรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดให้เฉพาะค่าลากรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 1,600 บาท ค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ 55,000 บาท เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามฟ้องหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติห้ามเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมายจ.4 ข้อ 1 วรรคท้าย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์ก่อนเลิกสัญญา เพราะจำเลยที่ 1 ครอบครองและใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยชอบ และโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเช่าซื้อค้างชำระก่อนเลิกสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาเป็นเบี้ยปรับและกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า เมื่อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้คือริบค่าเช่าซื้อที่ส่งไว้แล้วกับเรียกร้องทรัพย์ที่เช่าซื้อคืน ข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 วรรคท้ายที่ว่า แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของ จนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นการกำหนดความรับผิดของผู้เช่าซื้อนอกเหนือไปจากบทบัญญัติตามมาตรา 574 วรรคหนึ่ง แต่บทมาตราดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงใช้บังคับได้ อย่างไรก็ตามข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้เหมาะสมได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่งฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาเป็นเบี้ยปรับและใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายตามที่เห็นสมควรจึงชอบแล้วและไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share