แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้การสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ตายจะตกเป็นโมฆะแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 ก็บัญญัติว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเกิดขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1เป็นภริยาของผู้ตาย เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องไม่นำสืบหรือมีพยานมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย จึงต้องฟังว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 การที่ศาลชั้นต้นตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง แต่ได้ระบุฐานะของผู้คัดค้านที่ 1 ว่าในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 2 นั้นเกินคำขอท้ายคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 2 มิได้อุทธรณ์ไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสกลยุทธ์ผู้ตาย ผู้ตายมีเงินฝากในธนาคาร 10,000 บาทแต่มิได้ทำพินัยกรรมไว้ทำให้มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านทั้งสองเห็นว่าผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หรือให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางประนอม (ที่ถูกต้องคือนางปรานอม)ทองสายธาร ผู้ร้องกับนางสุทิน โมรีรัตน์ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงจรัสศรี ทองสายธาร ผู้คัดค้านที่ 2ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายสกลยุทธ์ ทองสายธาร ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งแต่งตั้งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้นางสุทิน ไมตรีรัตน์ (ที่ถูกต้องคือโมรีรัตน์)ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงจรัสศรี ทองสายธาร ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะตั้งนางสุทิน โมรีรัตน์ มารดาของผู้คัดค้านที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของนายสกลยุทธ์ ทองสายธาร ผู้ตาย ร่วมกับนางปรานอม ทองสายธาร ผู้ร้องนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2527 ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2528ผู้คัดค้านที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2533 โดยตามสูติบัตรระบุว่าเป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2534 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ตายเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495 อย่างไรก็ตามแม้ว่าการสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ตายจะตกเป็นโมฆะ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 ก็บัญญัติว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเกิดขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของผู้ตายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบหรือมีพยานหลักฐานมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวจึงต้องฟังว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะต้องร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ตั้งนางสุทิน โมรีรัตน์ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงกระทำได้โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้ว และจากการนำสืบของผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่านางสุทินเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรที่จะตั้งให้นางสุทินเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องทั้งนี้เพื่อให้การจัดการมรดกของผู้ตายเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ทายาทของผู้ตายทุกคน ทั้งเมื่อพิจารณาคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ก็ปรากฏว่าได้ขอให้ศาลตั้งนางสุทิน โมรีรัตน์ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง การที่ศาลชั้นต้นตั้งนางสุทินเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องแต่ได้ระบุฐานะของนางสุทินว่าในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 2 นั้นจึงเกินคำขอท้ายคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้นางสุทิน โมรีรัตน์ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่พิจารณาตั้งนางสุทิน โมรีรัตน์ เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องตามคำขอของผู้คัดค้านที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นางปรานอม ทองสายธาร ผู้ร้องกับนางสุทิน โมรีรัตน์ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายสกลยุทธ์ทองสายธาร ผู้ตาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์