คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ศาลพิพากษาตามยอมแบ่งที่ดินระหว่างกันแล้ว จำเลยในคดีก่อนกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างว่า จำเลยในคดีนี้รังวัดรุกล้ำในส่วนของโจทก์ เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ข้ออ้างของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องต้องว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีก่อน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 267/2521 ของศาลจังหวัดลพบุรีหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีก่อนและคดีนี้สามารถตรงกันว่าฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3760 ฝ่ายละเท่าใด ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีก่อนแล้วว่าโจทก์กับพวกซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนมีกรรมสิทธิ์สองในสามส่วนทางด้านทิศตะวันออก จำเลยในคดีนี้กับพวกมีกรรมสิทธิ์สองในสามส่วนทางด้านทิศตะวันออก จำเลยในคดีนี้กับพวกมีกรรมสิทธิ์หนึ่งในสามส่วนทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ดินตามโฉนด และคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะไม่ขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดสำนักงานที่ดินภายในเวลาที่กำหนดไว้ ดังปรากฏรายละเอียดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2521 ดังนี้ คดีนี้กับคดีก่อนจึงมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อนก็โดยมีเจตนาแบ่งแยกที่ดินตามที่มีแนวเขตการครอบครองเป็นส่วนสัดก็ดี และจำเลยนำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในส่วนของโจทก์ก็ดี เป็นข้อโต้แย้งในชั้นบังคับคดี ซึ่งโจทก์ชอบที่จะยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในคดีเดิม ส่วนข้อที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายมาด้วยนั้น ก็สืบเนื่องจากการที่โจทก์กล่าวว่า จำเลยรังวัดแบ่งแยกไม่ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง ฉะนั้นข้อพิพาทที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องคดีนี้จึงหาได้เป็นประเด็นข้อพิพาทอันใหม่ขึ้นมาไม่ ทั้งโจทก์จำเลยในคดีนี้ก็เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน เพียงแต่จำเลยที่ 1 ในคดีก่อนกลับมาเป็นโจทก์ และโจทก์ในคดีก่อนกลับมาเป็นจำเลยเท่านั้น ซึ่งก็คงถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกันนั่นเอง ทั้งคำพิพากษาในคดีก่อนก็ถึงที่สุดแล้วดังนี้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่ง มาตรา 148”

พิพากษายืน

Share