แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทะเบียนบ้านของจำเลยที่โจทก์อ้างเป็นพยานเอกสารนั้น เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่ต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(2) อย่างไรก็ดี การไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ทำให้การรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านี้เสียไป ถ้าหากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลก็มีอำนาจรับฟังเอกสารเช่นว่านี้เป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)
โจทก์อ้างทะเบียนบ้านของจำเลยซึ่งเป็นสำเนา ไม่มีเจ้าหน้าที่ทะเบียนท้องถิ่นรับรอง ปรากฏว่าเอกสารนี้เป็นภาพถ่ายซึ่งถ่ายมาจากต้นฉบับซึ่งทนายโจทก์ได้เซ็นชื่อรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องแล้ว จำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารนี้มีข้อความไม่ตรงกับต้นฉบับแต่อย่างใด หากจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้อง สำเนาทะเบียนบ้านที่จำเลยก็มีอยู่ สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารเช่นนี้ได้
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นตั้งแต่อายุเพียง 14 ปีเศษ กับยอมให้จำเลยที่ 1 ซื้อรถมาขับขี่ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ง่าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาทชนบุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๓ เวลากลางคืน จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนสายบ่อสร้างดอยสะเก็ดโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนนายอรุณบุตรชายโจทก์ซึ่งเดินอยู่ริมถนนล้มลงได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย เป็นการละเมิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดาผู้ตายเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจศพ ค่าขาดไร้อุปการะ รวมทั้งสิ้น ๕๐,๗๖๐ บาท จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มิได้ใช้ความระมัดระวังในการปกครองดูแลจำเลยที่ ๑ ตามสมควรเป็นเหตุให้มีการละเมิดเกิดขึ้นจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๕๐,๗๖๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ อายุ ๒๑ ปี มีภริยาแล้ว ไม่ได้อยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถโดยความประมาทเลินเล่อ หากจำเลยที่ ๑ ทำละเมิดจริง จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยเพราะได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่อยู่แล้ว ค่าเสียหายไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๓๓,๗๖๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังสำเนาทะเบียนบ้านจำเลยซึ่งโจทก์ส่งอ้างเป็นพยาน โดยมิได้มีเจ้าหน้าที่ทะเบียนท้องถิ่นรับรอง และโจทก์มิได้ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนสืบพยานโจทก์ ๓ วัน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย รับฟังเป็นพยานไม่ได้ พิเคราะห์แล้วปรากฏว่า ทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.๕ โจทก์ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้แล้วและได้ขอให้ศาลเรียกมาจากนายอำเภอสันกำแพงผู้ครอบครองเอกสาร แต่ศาลชั้นต้นไม่เรียกให้โดยเห็นว่าโจทก์สามารถขอตรวจและคัดสำเนาได้อยู่แล้ว โจทก์จึงได้ส่งภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านต่อศาลแทน เห็นว่าโจทก์อ้างทะเบียนบ้านเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๐(๒) ได้บัญญัติยกเว้นให้ผู้อ้างเอกสารดังกล่าวไม่ต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารเช่นว่านั้น ที่จำเลยเถียงว่าเอกสารหมาย จ.๕ เป็นสำเนาไม่มีเจ้าหน้าที่ทะเบียนท้องถิ่นรับรอง ปรากฏว่าเอกสารนี้เป็นภาพถ่ายซึ่งถ่ายมาจากต้นฉบับซึ่งทนายโจทก์ได้เซ็นชื่อรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องแล้ว จำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารฉบับนี้มีข้อความไม่ตรงกับต้นฉบับแต่อย่างใด หากจำเลยเห็นว่าเอกสารหมาย จ.๕ ไม่ถูกต้อง สำเนาทะเบียนบ้านที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็มีอยู่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ อย่างไรก็ดีการไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ทำให้การรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านี้เสียไป ถ้าหากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลก็มีอำนาจรับฟังเอกสารเช่นว่านี้เป็นพยานหลักฐานได้คดีนี้ศาลล่างทั้งสองก็ได้ใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารหมาย จ.๕ เป็นพยานหลักฐานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗(๒) ให้อำนาจไว้แล้ว เอกสารหมาย จ.๕ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ปัญหาว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดหรือไม่นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมาตั้งแต่จำเลยที่ ๑ อายุเพียง๑๔ ปีเศษ ๆ และปล่อยให้จำเลยที่ ๑ ไปค้างคืนนอกบ้านเป็นประจำและเป็นเวลานาน ๆ ที่จำเลยที่ ๒ ว่าได้เคยตักเตือนจำเลยที่ ๑ ให้ขับขี่รถช้า ๆ ไม่มีเหตุผลน่าเชื่อ หากจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คอยตักเตือนห้ามปรามอยู่เสมอเหตุร้ายก็คงไม่เกิด การที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ปล่อยปละละเลยถึงกับยอมให้จำเลยที่ ๑ ซื้อรถมาขับขี่ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ง่าย ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ผู้เยาว์
พิพากษายืน