คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรและผู้บัญชาการตำรวจภูธรต่างมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการทางวินัยต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้ บังคับบัญชา ฉะนั้นหากข้อความในหนังสือที่จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ดังกล่าวเป็นเท็จจำเลยย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 137 การที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173,174 ผู้แจ้งจะต้องมีเจตนาที่จะให้เจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในทางอาญา แต่การที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์นั้นเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ มิได้เจตนาที่จะให้ดำเนินการเอาความผิดแก่โจทก์ในคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 173,174.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อใส่ความโจทก์ต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผู้บังคับการตำรวจภูธร 1 และผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1 กับเพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษและอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยร้องเรียนว่าโจทก์เบียดบังเอาเงินค่าเสียหายที่จำเลยจะได้รับจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไว้เป็นบางส่วนและชอบรีดไถประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อน กับมีข่าวเล่าลือกันทั่วเมืองว่าโจทก์เป็นคนติดกัญชาและจำเลยเองก็พบโจทก์ชอบมั่วสุมอยู่กับแก๊งสูบกัญชาเป็นประจำ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 174, 326
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บังคับการตำรวจภูธร 1 และผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1 ต่างมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานและมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการทางวินัยต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาการที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่า โจทก์เบียดบังเอาเงินค่าเสียหายซึ่งจำเลยพึงจะได้รับไปเสียบางส่วนและยังเป็นคนติดกัญชา ซึ่งหากข้อความที่ร้องเรียนเป็นเท็จจำเลยย่อมจะต้องมีควาผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2518 ระหว่างนายกอง ดวงแสงเหล็กโจทก์ นายประสิทธิ์ สังข์ทอง จำเลย ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173และ 174 นั้น เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าวผู้แจ้งจะต้องมีเจตนาที่จะให้เจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในทางอาญา แต่การที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์นั้นเห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับโจทก์ มิได้มีเจตนาที่จะให้ดำเนินการเอาความผิดแก่โจทก์ในคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173,174 ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับรับฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share