แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กรณีผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 191/34 (1) บัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองนั้น คำว่า “กิจการของฝ่ายลูกหนี้” หาได้มีความหมายจำกัดเพียงว่า ต้องเป็นการซื้อสินค้ามาเพื่อจำหน่ายอีกต่อหนึ่งหรือต้องเป็นการซื้อวัตถุดิบมาเพื่อผลิตเป็นสินค้าเท่านั้นไม่ แต่ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการประกอบกิจการของลูกหนี้เป็นกรณีไป
จำเลยที่ 1 ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโรงสีข้าวอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ขายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่า เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าของโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) แห่ง ป.พ.พ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 501,007.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 398,052.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ในวงเงิน 20,000 บาท
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาทำนองเดียวกันว่า สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าตามฟ้องมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะใช้อายุความ 5 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า กรณีผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) บัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองนั้น คำว่า “กิจการของฝ่ายลูกหนี้” หาได้มีความหมายจำกัดเพียงว่า ต้องเป็นการซื้อสินค้ามาเพื่อจำหน่ายอีกต่อหนึ่งหรือต้องเป็นการซื้อวัตถุดิบมาเพื่อผลิตเป็นสินค้าดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเท่านั้นไม่ แต่ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการประกอบกิจการของลูกหนี้เป็นกรณีไป คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการอุตสาหกรรมโรงสีข้าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิเสธ และให้การยอมรับตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการโรงสีข้าวของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติตามคำฟ้องและคำให้การแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโรงสีข้าวอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อการดังกล่าวอีกไม่ได้ ส่วนที่ 3 ก็รับมาในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ใช้กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานในการทำงานของเครื่องจักรกล การที่โจทก์ขายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยที่ 1 ในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่า เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าของโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า การคำนวณเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มของโจทก์ไม่ถูกต้อง พนักงานของโจทก์มิได้อ่านหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าผิดพลาด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานของโจทก์จดเลขหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ตกไป 1 หลัก ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538 ถึงเดือนพฤษภาคม 2542 มีค่าไฟฟ้าที่ต้องเรียกเก็บเพิ่มรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 398,052.29 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งเป็นประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยรับฟังมานั้นไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในฎีกาอีกหาได้ไม่ เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ