คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินแก่โจทก์ แม้จะมีข้อตกลงต่อกันชำระดอกเบี้ยในเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยก็ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง ไม่เป็นการกู้เงินไปได้ ข้อต่อสู้ว่าชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแล้วมีผลว่าชำระสินไถ่แล้วเท่านั้น

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวความว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2494 เวลากลางวัน จำเลยได้จดทะเบียนทำนิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดที่ 4706 พร้อมทั้งบ้านเรือน ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ไว้แก่นายพิมพ์ โลกะสุทธิ พี่ชายโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท มีกำหนด 2 ปี ปรากฏตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง บัดนี้เกินกำหนดแล้ว บ้านเรือนและที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่นายพิมพ์ โลกะสุทธิ ครั้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2496 เวลากลางคืนมีพวกผู้ร้ายทำร้ายนายพิมพ์ โลกะสุทธิ ตายไป โจทก์เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก ของนายพิมพ์ โลกะสุทธิพี่ชาย โดยไม่มีพินัยกรรม ศาลสั่งอนุญาตตามคดีแพ่งแดงที่ 214/2496 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ได้บอกกล่าวจำเลยกับบริวารให้ไปจากบ้านและที่ดินรายนี้ จำเลยไม่ยอมออกเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายจึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเรือนและที่ดินรายนี้ และชดใช้ค่าเสียหาย ฐานละเมิด 500 บาท และต่อจากวันฟ้องอีกเดือนละ 150 บาท ตลอดไป

จำเลยรับว่า ได้ทำสัญญาขายฝากกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแก่นายพิมพ์ตามสำเนาสัญญาขายฝากท้ายฟ้องจริง แต่พฤติการณ์ที่นายพิมพ์กับจำเลยปฏิบัติต่อกันเป็นการกู้เงิน โดยมีหลักทรัพย์เป็นประกันเท่านั้นเพราะนายพิมพ์คิดดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือนและจำเลยได้ชำระต้นเงิน 10,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ให้แก่นายพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว นายพิมพ์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากเอาเอง ปรากฏตามสำเนาใบรับเงิน และสำเนาใบมอบอำนาจท้ายคำให้การ เจ้าพนักงานที่ดินบอกให้รอสอบเขตที่ดินเสียก่อนจึงยังมิได้ไถ่ถอนการขายฝากจนบัดนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว และฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมอนึ่ง เมื่อนายพิมพ์ตายแล้วจำเลยได้บอกโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์ถึงเรื่องนี้ โจทก์รับจะไปโอนคืนให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้รออยู่เรื่อยมา บัดนี้ จำเลยเพิ่งทราบว่า โจทก์ได้ไปแก้ทะเบียนโอนที่ดิน และบ้านที่ขายฝากหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2497 โดยไม่มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้นได้จึงกลับฟ้องแย้ง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า สัญญาขายฝากท้ายฟ้องเป็นโมฆกรรม และเพิกถอนนิติกรรมการโอนหลุดเป็นสิทธิตามสัญญาขายฝากนั้นเสีย ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์โอนที่ดินและบ้านรายพิพาทคืนให้แก่จำเลย ตามใบมอบอำนาจของนายพิมพ์ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2496 นั้น หากโจทก์ไม่สามารถโอนได้ ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการทำการแก้ทะเบียนโฉนดที่ 4076 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย

โจทก์ต่อสู้ฟ้องแย้งว่า ได้แก้ทะเบียนโฉนดที่ 4706 เป็นของโจทก์เรียบร้อยแล้ว ใบรับเงินและใบมอบอำนาจท้ายคำให้การเกิดขึ้นโดยไม่สุจริต และเป็นคนละประเด็นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องนี้

ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมโจทก์มีอำนาจฟ้องในนามของตนเองได้ จำเลยรับว่าเป็นการขายฝากอยู่แล้ว จะนำสืบว่าเป็นการกู้เงินดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ได้เพราะเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ที่จำเลยอ้างว่าได้ชำระเงินตามสัญญาขายฝากแก่นายพิมพ์หมดแล้วนั้น พยานของจำเลยก็ให้การแตกต่างขัดกัน และขัดต่อเหตุผลรับฟังไม่ได้ ที่ดินและบ้านรายพิพาทตามสัญญาขายฝากตกเป็นของโจทก์ไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิไปขอโอนเป็นของโจทก์ได้ บัดนี้ จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินและบ้านรายพิพาทนี้โดยไม่มีสิทธิใด ๆ จึงพิพากษาให้ขับไล่จำเลย และบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านเรือนรายพิพาท ค่าเสียหายโจทก์นำสืบไม่ได้ให้ยกเสีย ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมกับค่าทนาย 300 บาท แทนโจทก์และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

แต่มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่ง ทำความเห็นแย้งว่าจำเลยต่อสู้ถึงเจตนาอันแท้จริงว่า เป็นการกู้เงินกันโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกันย่อมมีสิทธิที่จะนำสืบหักล้างเอกสารสัญญาขายฝากหมาย ก. นั้นได้ และจำเลยนำสืบได้ว่าได้ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่นายพิมพ์ไปครบถ้วนแล้ว หากจะฟังว่าเป็นสัญญาขายฝากก็ได้ความว่าจำเลยได้ชำระเงินไถ่ถอนเสร็จแล้วก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาขายฝากนั้น อนึ่ง ฐานะของโจทก์ตามฟ้อง จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท หรือในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์ก็ไม่เป็นการแน่นอน ซึ่งเป็นฟ้องเคลือบคลุมจึงเห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์จัดการโอนที่ดินและบ้านเรือนพิพาทให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่จัดการ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของทนายโจทก์ และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2494 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาขายฝากกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 4706 ตำบลทรงคนองอำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินนั้น ต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้แก่นายพิมพ์เป็นเงิน 10,000 บาท มีกำหนดเวลา 2 ปี ปรากฏตามเอกสารหมาย ก. ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2496 นายพิมพ์ถึงแก่ความตาย โดยไม่มีภรรยาและบุตร โจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาของนายพิมพ์ ได้ร้องขอต่อศาลและศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของนายพิมพ์ปรากฏว่าการขายฝากรายนี้ เกินกำหนดเวลาไถ่คืนแล้ว โจทก์จึงได้ไปแก้ทะเบียนโอนโฉนดเป็นชื่อของโจทก์เสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2497 (ตามคำให้การข้อ 4 ของจำเลย) แต่จำเลยยังคงอยู่ในบ้านเรือน ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้ตลอดมา โจทก์เตือนแล้ว จำเลยก็ไม่ยอมออก โจทก์จึงได้ฟ้องเป็นคดีเรื่องนี้

ฎีกาของจำเลยเสนอข้อคัดค้านรวม 3 ประการ ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยสืบไปตามลำดับ

ประการที่หนึ่ง เรื่องฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลฎีกาพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงชัดเจนถึงการขายฝาก การตายของนายพิมพ์ และความเป็นทายาทของโจทก์ตลอดจน ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของนายพิมพ์ แสดงถึงฐานะและสิทธิของโจทก์ในการฟ้องร้องคดีเรื่องนี้อย่างแจ้งชัดและสมบูรณ์แล้ว ตามคำให้การข้อ 4 ของจำเลยเอง ก็รับรองว่า โจทก์มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์สมตามคำฟ้องของโจทก์ และได้ให้การต่อสู้คำฟ้องของโจทก์โดยตรงทุกข้อ ไม่แสดงว่าจำเลยมีความผิดหลงในการต่อสู้คดีประการใดเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ฉบับนี้ไม่เคลือบคลุมเป็นการชอบแล้ว

ประการที่สอง เรื่องนิติกรรมอำพราง จำเลยให้การรับอยู่แล้วว่า ได้ทำหนังสือสัญญาขายฝากกรรมสิทธิ์ที่ดิน และบ้านไว้กับนายพิมพ์ตามเอกสารหมาย ก.จริง เอกสารฉบับนี้ เป็นสัญญาที่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยยินยอมทำกับนายพิมพ์ไว้ด้วยใจสมัคร จำเลยได้ต่อสู้ถึงเรื่องเจตนาลวงหรือปกปิดอำพรางอะไรไว้ประการใด เพียงแต่อ้างว่ามีข้อตกลงกันไว้ภายนอกอีกข้อหนึ่งว่าจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่ผู้ซื้อฝากด้วยเท่านั้น กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องนิติกรรมอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสอง และไม่เป็นเหตุที่จะกระทำให้นิติกรรมขายฝาก กลายเป็นสัญญากู้หนี้ธรรมดาไปได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลย ดังนั้น การนำสืบของจำเลยในเรื่องได้ชำระต้นเงิน 10,000 บาท กับดอกเบี้ยอีก 1,687 บาท 50 สตางค์ ให้แก่นายพิมพ์ไปเสร็จสิ้นก่อนนายพิมพ์ตายนั้นจึงเป็นผลเพียงว่าจำเลยได้ชำระสินไถ่ที่ดิน คืนจากการขายฝากแล้วเท่านั้น ซึ่งจะได้วินิจฉัยต่อไป ฯลฯ (ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริง แล้วพิพากษายืน ) ฯลฯ

Share