คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินในโฉนด ถ้าตลิ่งพังก็ย่อมกลายสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะ
ทรายมูลเกิดขึ้นกลางน้ำหน้าที่ดินแต่มีร่องน้ำคั่นไม่ใช่ที่งอกอันจะเป็นของเจ้าของ ของที่ดินริมตลิ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจากที่ดินของโจทก์และที่งอก จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นทางน้ำตื้นเป็นเกาะขึ้น ซึ่งจำเลยครอบครองมาไม่ใช่ที่งอด ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทหมายสีเหลืองและสีแดงประเป็นที่ชายตลิ่งและท้องทางน้ำที่เขินขึ้น พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นที่ลุ่มในโฉนดและที่งอก พิพากษาให้ขับไล่ ศาลฎีกาฟังว่าที่หมายเหลืองเป็นทางน้ำ หมายแดงประเป็นที่ตื้นเขิน พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยดังนี้

“ฯลฯ เมื่อตัดที่ดินตามหมายสีเหลืองออกเสียแล้ว ที่ดินในวงเส้นสีแดงตอนบน คือที่ดินตามข้อ (1) อันเป็นที่ดินในโฉนดของโจทก์จะเหลือเนื้อที่เพียง 2 ไร่ 3 งาน 36 วา น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ในโฉนดอันแท้จริงไป 1 งาน 52 วา ข้อนี้ปรากฏว่าโฉนดที่ 4590 นี้ออกให้ตั้งแต่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2458 ขณะนั้นทางด้านหน้าของที่ดินแปลงนี้จดลำน้ำแควป่าสัก ตลิ่งอาจพังลงไปในลำน้ำบ้างก็เป็นได้ จึงเหลือพื้นที่ดินบนตลิ่งอันแท้จริงเพียงเท่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ ต่อมาราว 15-16 ปีก่อนฟ้อง กระแสน้ำเปลี่ยนไปมีทรายมูลขึ้นกลางน้ำหน้าที่ดินของโจทก์แต่ไม่ติดต่อกับพื้นที่ดินของโจทก์โดยมีร่องน้ำคั่นอยู่ คือร่องน้ำในวงเส้นสีเหลืองนั้น ตลิ่งของโจทก์จึงไม่ฟังต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่าเจ้าของที่ดินริมลำน้ำนั้นย่อมมีทั้งส่วนได้และส่วนเสีย คือ เกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่ดินก็เพิ่มพูนมากขึ้น และตรงกันข้าม ถ้าตลิ่งพังกลายสภาพเป็นลำน้ำไปเนื้อที่ดินก็ย่อมลดน้อยลงดังนี้ ที่ดินของโจทก์ที่ขาดจำนวนจากเนื้อที่ในโฉนดบ้างเล็กน้อย กลายเป็นร่องน้ำไปตามที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้จึงเป็นไปตามสภาพดังกล่าวมาแล้วนี้ คดีไม่มีทางที่จะวินิจฉัยให้ทางน้ำสาธารณะเป็นที่ดินในโฉนดของโจทก์ได้ดังฟ้อง

ส่วนที่วิวาทในวงเส้นประสีแดงนั้น ได้ความว่าเป็นที่ทรายมูลเกิดขึ้นกลางน้ำก่อน ไม่ได้ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ โดยมีร่องน้ำสาธารณะคั่นอยู่ หาได้งอกจากที่ชายตลิ่งของโจทก์ออกไปไม่และตัวนายศรีโจทก์เองก็ให้การรับว่า ที่งอกเกิดขึ้นตรงที่จำเลยปลูกเรือนก่อน ตามแผนที่วิวาทปรากฏว่าเรือนของจำเลยอยู่ห่างที่ดินบนตลิ่งซึ่งเป็นที่ของโจทก์ราว 15 วา จึงไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งอันจะพึงเป็นที่ดินของโจทก์ได้ดังฟ้อง โจทก์จึงไม่มีทางที่จะชนะคดีเรื่องนี้ได้”

Share