คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยที่ 1 จ้างเหมาบริษัทเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัยในบริเวณเคหะชุมชนคลองจั่น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 61 ซึ่งเป็นคณะกรรมการอาคารชุดเคหะชุมชนคลองจั่นรับงานดังกล่าวมาดำเนินการเอง จำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้เงินอุดหนุนเท่านั้น ส่วนการบริหารงานจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 61 มีอำนาจอิสระอย่างเด็ดขาดไม่จำต้องฟังคำสั่งของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารงาน กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 61 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบห้าซึ่งจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 61 จ้างเข้ามาทำงานดังกล่าว และแม้กิจการของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการที่แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจก็หาทำให้กิจการของจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 61 กลายเป็นกิจการที่แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจไปด้วยไม่ การจ้างงานของจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 61 จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นจากบุคคลที่เช่าอาคารชุมของจำเลยที่ ๑ อาคารชุดละ ๒ คน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ รักษาความปลอดภัยและความสะอาดภายในบริเวณสถานที่ของจำเลยที่ ๑ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจว่าจ้างบุคคลมาดำเนินกิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่าย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ เป็นคณะกรรมการชุมชน มีหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารชุมชน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ได้ตกลงจ้างโจทก์ทั้งสิบห้าเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ และที่ ๑๕ ทำงานตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยภายในชุมชนคลองจั่น ส่วนโจทก์ที่ ๑๔ ทำงานตำแหน่งพนักงานรักษาความสะอาดภายในเขตชุมชนคลองจั่น ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้ง ๑๕ คน โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นับแต่วันที่โจทก์เข้าทำงาน จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยไม่ได้กำหนดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ ๖ วัน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้อง พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่โจทก์ทั้งสิบห้าเข้าทำงานเป็นลูกจ้างไม่ว่าในตำแหน่งหน้าที่ใด ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอาคารชุดเคหะชุมชนคลองจั่นขึ้นจากบุคคลเช่าซื้ออาคารชุดของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ เป็นคณะกรรมการอาคารชุดเคหะชุมชนคลองจั่นชุดที่ ๕ ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม กระทำกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชน รักษาความปลอดภัยและรักษาความสะอาดภายในบริเวณสถานที่ของจำเลยที่ ๑ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี คณะกรรมการอาสาสมัครเข้าทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนและไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ โจทก์ทั้งสิบห้าไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ได้มอบหมายงานรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัยให้คณะกรรมการอาคารชุดเคหะชุมชนคลองจั่นดำเนินการ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นรวมทั้งการว่าจ้างโจทก์ทั้งสิบห้าเข้าทำงานด้วย จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินอุดหนุนให้คณะกรรมการเป็นรายเดือนทุกเดือน นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เข้าร่วมบริหารงานของคณะกรรมการโดยกำหนดนโยบายบริหารและเงื่อนไขรายละเอียดการจ้างลูกจ้างด้วย คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินกิจการต่าง ๆ ไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ ๑ และเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ จึงมีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒, ๔, ๘, ๑๕, ๑๘, ๓๓, ๔๐, ๔๖, ๔๗, ๔๙, ๕๐, ๕๑, ๕๒, ๕๗, ๕๘ ขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ จ่ายค่าจ้างในส่วนที่ยังต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่โจทก์ทั้งสิบห้าคนละ ๑,๐๐๕ บาท และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสิบห้าคนละ ๒,๑๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๑ เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ ๑
โจทก์ทั้งสิบห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ ๑ ให้การสนับสนุนทางด้านกิจการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเคหะเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยที่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ดำเนินการเองแต่มอบหมายหน้าที่การงานให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ดำเนินการนั้น เห็นได้ว่าผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้กับจำเลยที่ ๑ เพราะว่าแต่เดิมนั้น กิจการรักษาความปลอกภัยและรักษาความสะอาด จำเลยที่ ๑ ได้จ้างบริษัทบุคคลภายนอกมาเพื่อทำหน้าที่แทน และจำเลยที่ ๑ ได้จ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานให้แก่บริษัทดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้เช่าซื้ออาคารชุดของจำเลยที่ ๑ เข้ามาอาสาทำงานแทนจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงมอบหมายงานให้โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งกรรมการชุมชมคือจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ การเลือกตั้งก็ดีการจ่ายเงินบริหารก็ดีอยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ ๑ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ดำเนินการเพื่อความประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ตามที่จำเลยที่ ๑ มอบหมาย จำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๖๑ ได้ดำเนินการไปโดยอยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ ๑ โดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเลือกตั้ง การประชุมตลอดจนการจ่ายเงิน มีลักษณะที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ เป็นตัวแทนจำเลยของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดชอบในฐานะตัวการพิเคราะห์แล้ว ปัญหาดังกล่าวศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยที่ ๑ จ้างเหมาบริษัทเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัยในบริเวณเคหะชุมชนคลองจั่น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ รองประธานคณะกรรมการอาคารชุดเคหะชุมชนคลองจั่นชุดที่ ๓ ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ เสนอโครงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาความปลอดภัยและการรักษาความสะอาดในบริเวณเคหะชุมชนคลองจั่นไปให้จำเลยที่ ๑ พิจารณาสนับสนุน และเมื่อจำเลยที่ ๑ อนุมัติคณะกรรมการก็รับงานดังกล่าวมาดำเนินการและรับผิดชอบเอง เห็นว่าตามพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ซึ่งเป็นคณะกรรมการอาคารชุดเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาความปลอดภัยและการรักษาความสะอาดเอง จำเลยที่ ๑ เพียงแต่ให้เงินอุดหนุนเท่านั้น สำหรับการบริหารงาน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ มีอำนาจอิสระอย่างเด็ดขาดโดยไม่จำต้องฟังคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารงานของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น โจทก์อุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า การที่ศาลวินิจฉัยว่ากิจการที่จำเลยทำอยู่นั้นเป็นกิจการที่ไม่แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ เป็นการมองปลายเหตุคือมองเฉพาะที่การทำงานเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและทำความสะอาด โดยกรรมการไม่แสวงกำไรทางเศรษฐกิจ แต่ต้นตอจริง ๆ แล้วกิจการของจำเลยที่ ๑ เป็นกิจการแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ ที่จำเลยที่ ๑ มอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ดำเนินการแทน จึงเห็นว่าเป็นกิจการที่แสวงกำไรทางเศรษฐกิจ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖๑ ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ตามคำฟ้องของโจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ทั้งสิบห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น แม้กิจการของจำเลยที่ ๑ เป็นกิจการที่แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจก็หาทำให้กิจการของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ กลายเป็นกิจการที่แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจไปด้วยไม่ เพราะได้วินิจฉัยในอุทธรณ์ข้อแรกแล้วว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๑ กิจการของจำเลยที่ ๑ แยกต่างหากจากกิจการของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๒๑ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖๑ เป็นการจ้างงานที่มีได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share