คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14795/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นป้า ตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 3 ปีเศษ เนื่องจากบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 หย่าร้างกัน ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยโทรศัพท์ชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปพบแล้วพาขึ้นบ้านไปที่ระเบียง แล้วดึงแขนผู้เสียหายที่ 2 จากระเบียงพาเข้าห้องไปกระทำชำเรา เป็นการรบกวนล่วงอำนาจผู้ดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็รับฟังข้อเท็จจริงมาดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะใช้ถ้อยคำว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ปกครองคลาดเคลื่อนไป ศาลฎีกาก็ปรับบทให้ถูกต้องได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความและตามฟ้องโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 310, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคท้าย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 2 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 9 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม), 317 วรรคท้าย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 9 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่1 แพทย์หญิงทิพย์วรรณเป็นผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และทำความเห็นตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ นอกจากนี้โจทก์มีพันตำรวจโทประสงค์ และพันตำรวจโทประเสริฐ พนักงานสอบสวนเป็นพยาน โดยพันตำรวจโทประสงค์เบิกความว่า พยานเป็นผู้สอบปากคำผู้เสียหายที่ 2 ต่อหน้าพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ปกครอง กับสอบปากคำผู้เสียหายที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ส่วนจำเลยนั้นพยานแจ้งสิทธิให้ทราบแล้วสอบสวนจำเลยต่อหน้าบิดาจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา กับบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และพันตำรวจโทประเสริฐเบิกความว่า พยานทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ต่อจากพันตำรวจโทประสงค์ซึ่งย้ายไป พยานแจ้งข้อหาชั้นสอบสวนเพิ่มเติมแก่จำเลยว่าพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และบันทึกรายละเอียดคำให้การของจำเลยไว้ในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา จากพยานโจทก์ข้างต้น เห็นว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าวและถ้อยคำของผู้เสียหายที่ 2 ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน มีลักษณะเป็นการเบิกความต่อศาลและให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาโดยธรรมชาติ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าจำเลยเป็นคนรู้จักที่มาพูดคุยเกี้ยวพาราสีแต่ไม่ถึงขั้นเป็นคนรักกัน และมีรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องที่ถูกจำเลยดึงแขนเข้าห้องไปกระทำชำเรา อาการเจ็บและแสบที่อวัยวะเพศขณะถูกจำเลยกระทำชำเรา ความรู้สึกหลังจากเกิดเหตุ ตลอดจนเหตุผลที่ปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะกลัวจะเสียชื่อเสียงตามที่จำเลยบอกกับกลัวจะถูกญาติผู้ใหญ่ตำหนิและด่าว่า ตามประสาเด็กที่ยังอ่อนวัยและขาดประสบการณ์ในการแก้ปัญหาโดยแท้ ซึ่งตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ก็ปรากฏว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่าจำเลยเคยชอบพอผู้เสียหายที่ 2 เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2547 แต่ภายหลังจำเลยมีคนรักซึ่งพามาเที่ยวที่บ้านบ่อยครั้งแล้ว ทั้งคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ในเรื่องที่ได้รับคำบอกเล่าจากผู้เสียหายที่ 2 ถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุก็สอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 และเชื่อมโยงกันถึงเหตุที่มีการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยล่าช้าว่าเป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 เพิ่งทราบเรื่องจากผู้เสียหายที่ 2 ในวันที่ 30 เมษายน 2548 แม้ผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ของแพทย์หญิงทิพย์วรรณไม่เป็นข้อพิสูจน์ที่ฟังได้แน่นอนว่าผู้เสียหายที่ 2 ถูกกระทำชำเราไปก่อนหน้านั้นประมาณ 4 สัปดาห์ หรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่แพทย์หญิงทิพย์วรรณตรวจพบรอยแดงเล็กน้อยคล้ายแผลใกล้หายที่บริเวณปากช่องคลอดด้านหลังของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งสามารถใส่นิ้วเข้าไปตรวจได้ง่ายต่างไปจากเด็กหญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยแพทย์หญิงทิพย์วรรณมีความเห็นจากรอยที่ตรวจพบนั้นว่าผู้เสียหายที่ 2 น่าจะผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็เป็นข้อสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่ว่าหลังจากถูกจำเลยกระทำชำเราแล้วมีเลือดออกที่อวัยวะเพศและสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ว่า ในวันรุ่งขึ้นหลังวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเลให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก็เป็นเรื่องอื้อฉาวที่ผู้เสียหายที่ 2 เองจะต้องอับอายขายหน้าต่อคนที่รู้จักและเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียต่อวงศ์ตระกูล จึงไม่มีเหตุควรระแวงสงสัยว่าผู้เสียหายที่ 2 ได้สร้างเรื่องขึ้นประจานตัวเองหรือผู้เสียหายที่ 1 ได้เสี้ยมสอนผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นหลานให้บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปรักปรำจำเลยในเรื่องเสียหายเช่นนี้ เชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองเบิกความตามเรื่องที่แท้จริง การที่โจทก์ไม่มีสมุดบันทึกที่ผู้เสียหายที่ 2 เขียนระบายความในใจว่าเสียตัวให้จำเลยมาแสดงเป็นหลักฐานและมิได้นำสืบน้องสาวผู้เสียหายที่ 2 ที่รู้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านไปพบจำเลยในวันเกิดเหตุ ก็ไม่เป็นเหตุให้คำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองปราศจากน้ำหนักให้เชื่อถือหรือดูเป็นพิรุธแต่อย่างใดไม่ ที่จำเลยนำสืบว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ไปที่บ้านจำเลยในวันเกิดเหตุ วันดังกล่าวมีคนในบ้านอยู่กันตามปกติโดยมีเพื่อนของบิดาจำเลยไปตั้งวงดื่มสุรา มีคนรักของจำเลยไปช่วยมารดาจำเลยทำกับข้าว มีเพื่อนของน้องชายไปซ้อมดนตรี และมีเพื่อนบ้านไปนั่งดูโทรทัศน์นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย อีกทั้งพยานที่จำเลยนำสืบเพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณา ข้อนำสืบของจำเลยจึงดูเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในวันเกิดเหตุจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ซึ่งจำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายที่ 1 มิใช่ผู้ปกครองของผู้เสียหายที่ 2 เพราะบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 ยังมีชีวิตอยู่โดยบุคคลทั้งสองยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้น จากข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติในเบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นป้าเนื่องจากบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 หย่าร้างกัน โดยได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ประกอบบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยานว่า หลังจากบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 หย่าร้างกันแล้วผู้เสียหายที่ 1 เลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 2 ตั้งแต่อายุ 3 ปีเศษเรื่อยมา ทั้งผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ดังนี้จึงถือได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้เสียหายที่ 2 โดยได้รับมอบหมายจากบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 ฉะนั้นการที่จำเลยโทรศัพท์ชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปพบแล้วดึงแขนผู้เสียหายที่ 2 ขึ้นบ้านพาเข้าห้องไปกระทำชำเรา จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนล่วงอำนาจผู้ดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ซึ่งในข้อนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็รับฟังข้อเท็จจริงมาดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะใช้ถ้อยคำว่า ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ปกครองคลาดเคลื่อนไป ศาลฎีกาก็ปรับบทให้ถูกต้องได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความและตามฟ้องโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีกกรรมหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมีรูปเรื่องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share