คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 5336 เลขที่ดิน 384 ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องรบกวนสิทธิในที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายภูมิบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนและขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 5336 เลขที่ดิน 384 ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องรบกวนสิทธิในที่ดินพิพาทอีกต่อไป และให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เดิมนางส้มหรือฉ่ำกกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 708 ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เมื่อปี 2510 นางส้มยกที่ดินดังกล่าวให้แก่พระภิกษุเปี่ยม และนางเปื้อมซึ่งเป็นบุตร พระภิกษุเปี่ยมขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์ แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อนางส้มถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางเปื้อมเป็นผู้จัดการมรดก นางเปื้อมยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ที่ดินที่แบ่งแยกออกมาเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 5336 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ต่อมาพระภิกษุเปี่ยมยื่นคำร้องขอให้ถอนนางเปื้อมออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนนางเปื้อมออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ปี 2551 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางเคียงเป็นผู้จัดการมรดกของนางส้ม วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 นางเปื้อมจึงจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 708 และที่ดินพิพาทให้แก่นางเคียงในฐานะผู้จัดการมรดกของนางส้ม ในวันเดียวกัน นางเคียงในฐานะผู้จัดการมรดกของนางส้มจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทให้แก่นางเปื้อม หลังจากนั้นมีการทำนิติกรรมในที่ดินพิพาทอีกหลายทอดต่างวันกัน กล่าวคือ นางเปื้อมจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่นายวิมลโดยเสน่หา นายวิมลจดทะเบียนขายให้แก่นางชัชฎา นางชัชฎาจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 นางเคียงในฐานะผู้จัดการมรดกของนางส้มจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 708 ให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 5336 โดยซื้อมาจากพระภิกษุเปี่ยมและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง เช่นนี้เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุเปี่ยมอย่างที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณา หาทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และศาลมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้อย่างชัดแจ้งพร้อมมีบันทึกถ้อยคำ ซึ่งมีข้อความที่เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกระบุไว้ชัดเจนว่า ที่ดินแปลงที่ต้องโอนให้โจทก์ คือ ที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุเปี่ยมและทำนามาแล้ว 15 ปี จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อจากพระภิกษุเปี่ยมและเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลงอย่างที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่างนางส้มกับพระภิกษุเปี่ยมไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ก็ตาม แต่เมื่อนางส้มสละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุเปี่ยม ดังนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของนางส้มย่อมสิ้นสุดลง นางส้มไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท พระภิกษุเปี่ยมย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 มาตรา 1377 และมาตรา 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุเปี่ยมกับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อพระภิกษุเปี่ยมขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว พระภิกษุเปี่ยมได้สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของพระภิกษุเปี่ยมย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุเปี่ยมไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 มาตรา 1377 และมาตรา 1378 นางเคียงในฐานะผู้จัดการมรดกของนางส้มจึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของนางส้มให้แก่นางเปื้อม นางเปื้อมย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เมื่อนางเปื้อมไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท บุคคลอื่นซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทต่อมา รวมทั้งจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองด้วย แม้จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โจทก์สามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ซื้อและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนโดยรับซื้อฝากมาจากนางชัชฎาซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตและจำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วก็สมควรพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองด้วย ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้ออื่น ๆ นอกจากนี้ไม่เป็นสาระควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share