แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับ 1,000 บาท จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4)
คำว่า “อากร” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีตามกฎหมายอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยโดยนำภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมคำนวณค่าปรับ เป็นการลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 27, 28, 69, 75, 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6, 34 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 287 ริบของกลางและสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28 (ที่ถูก 28 (1)), 69 วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 (ที่ถูกมาตรา 287 (1)) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ลงโทษปรับ 120,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 2,000 บาท ฐานมีไว้เพื่อขายและทำให้แพร่หลายซึ่งแถบบันทึกเสียงและภาพอันลามก จำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 29,084 บาท รวมโทษเป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 156,084 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง (ที่ถูกกระทงละกึ่งหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 78,042 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 321 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบของกลางอื่น
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า สมควรลดโทษปรับให้แก่จำเลยหรือไม่ สำหรับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลย 1,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4) อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย สำหรับความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ บัญญัติโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ คำว่า “อากร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีตามกฎหมายอื่นคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมแบตเตอรี่และสายชาร์ตไฟฟ้ารวม 10 เครื่อง แบตเตอรี่โทรศัพท์สำรองจำนวน 7 ชิ้น หูฟังโทรศัพท์จำนวน 7 ชิ้นรวมราคา 6,740 บาท ซึ่งสิ่งของดังกล่าวผลิตในต่างประเทศและยังไม่ได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร โดยจำเลยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัดที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น เป็นค่าอากร 34 บาท ค่าภาษีสรรพสามิต 18 บาท ภาษีมหาดไทย 2 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 477 บาท รวมเป็นเงินค่าอากร 531 บาท ซึ่งรวมราคาของและค่าภาษีอากรเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 7,271 บาท ดังนั้น เมื่อหักค่าภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาของดังกล่าวออกแล้ว คงเป็นราคาของและอากรขาเข้า รวมเป็นเงิน 6,774 บาท โทษปรับสี่เท่าเป็นจำนวน 27,096 บาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยในความผิดดังกล่าวก่อนลดโทษ รวมเป็นเงิน 29,084 บาท โดยนำภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมคำนวณค่าปรับด้วยนั้น จึงเกินกว่าโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และอัตราโทษปรับดังกล่าว เป็นอัตราโทษตามกฎหมาย ไม่อาจลงโทษต่ำไปกว่าที่กำหนดไว้ได้…
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ลงโทษปรับ 27,096 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 13,548 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.