แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้เหตุในคดีนี้จะเกิดในเวลากลางวันต่อหน้าคนจำนวนมากและโจทก์มีพยานหลักฐานที่สามารถนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้โดยไม่ต้องอาศัยคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยมาประกอบการพิจารณาเลยก็ตาม แต่หลังเกิดเหตุจำเลยยังคงหลบซ่อนอยู่ในบริเวณอาคารที่เกิดเหตุจนเจ้าพนักงานตำรวจพูดเกลี้ยกล่อมให้จำเลยมอบตัว จำเลยจึงยอมมอบตัวและนำอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนที่ยังเหลืออยู่อีก 2 นัด ไปมอบให้พนักงานสอบสวนยึดเป็นของกลาง หากจำเลยไม่ยอมมอบตัวก็ยังมีอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนในสภาพที่พร้อมจะก่อเหตุร้ายต่อไปได้อีก การที่จำเลยยอมมอบตัวและมอบอาวุธปืนและกระสุนปืนเป็นของกลาง ทั้งให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนถือได้ว่าเป็นการรู้สึกความผิดและลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289(4), 91, 80, 59 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 4, 5, 55, 78 และริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กับ 288, 80 (ที่ถูกและ 288, 60)พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 วรรคสาม การกระทำของจำเลยอันเป็นความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ความผิดฐานฆ่านายสุรพลและเด็กหญิงเกษศิรีเป็นกรรมเดียวกัน ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าและฆ่าผู้อื่นกับฐานใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 รวม 3 กระทง แต่ละกระทงลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและทางพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1)คงลงโทษแต่ละกระทง จำคุกตลอดชีวิต รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลดโทษให้จำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้ลงโทษประหารชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า มีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่าแม้เหตุคดีนี้จะเกิดในเวลากลางวัน ต่อหน้าคนจำนวนมาก โจทก์มีพยานหลักฐานที่สามารถนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้โดยไม่จำต้องอาศัยคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยมาประกอบการพิจารณาเลยก็ตาม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของประจักษ์พยานของโจทก์กับพันตำรวจโทเจริญ โลศิริ พนักงานสอบสวนตรงกันว่าหลังเกิดเหตุจำเลยยังคงหลบซ่อนอยู่ภายในบริเวณอาคารที่เกิดเหตุจนเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานอื่นไปถึงที่เกิดเหตุและพูดเกลี้ยกล่อมให้จำเลยมอบตัว ในที่สุดจำเลยยอมมอบตัวและนำอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนที่ยังเหลืออยู่อีก 2 นัด ไปมอบให้พนักงานสอบสวนยึดเป็นของกลาง เห็นได้ว่า หากจำเลยไม่ยอมมอบตัวจำเลยก็ยังมีอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนในสภาพที่พร้อมจะก่อเหตุร้ายต่อไปได้อีก ดังนี้ การที่จำเลยยอมมอบตัวแก่พนักงานสอบสวนและมอบอาวุธปืนและกระสุนปืนเป็นของกลางทั้งให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนย่อมถือได้ว่าเป็นการรู้สึกความผิดและลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จึงมีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ลดโทษให้จำเลยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น