คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1473/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1ทำสัญญาซื้อขายสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ให้บริษัทช. ในราคา15ล้านบาทแต่ระบุไว้ในสัญญาเพียง1ล้านบาทส่วนอีก14ล้านบาทได้ทำเอกสารขึ้นสองฉบับคือสัญญากู้จ.1ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1และบันทึกข้อตกลงในการฝากและคืนเอกสารสัญญากู้ที่ฝากไว้กับธนาคารเงิน14ล้านบาทนั้นโจทก์ได้มาจากบ. ออกเช็คเข้าบัญชีของโจทก์แล้วโจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน14ล้านบาทให้จำเลยที่1ข้อตกลงในการฝากและคืนเอกสารสัญญากู้มีว่าถ้าบริษัทช. เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์โดยสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วให้จำเลยที่1เป็นผู้มีสิทธิรับเอกสารคืนซึ่งมีผลเท่ากับไม่ต้องชำระหนี้เงินกู้ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับสมาชิกนั้นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้พิจารณาใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่เกิน30รายสมาชิกอาจโอนการเป็นสมาชิกให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์จึงหาได้กระทำตามความสมัครใจของผู้โอนและผู้รับโอนเท่านั้นไม่ความสำคัญอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้โอนกันด้วยขณะทำสัญญาซื้อขายจำเลยที่1และบริษัทช. จึงไม่มีทางรู้ว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการจะออกมาในรูปใด ไม่มีเหตุที่บริษัทช. ผู้ซื้อจะชำระเงินค่าซื้อสิทธิให้แก่จำเลยที่1ถึง14ล้านบาทเมื่อการโอนสิทธิแก่กันยังไม่เป็นที่แน่นอนพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่1ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ก็เพื่อจะให้จำเลยที่1ได้เงินไปใช้ก่อนสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จึงเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายหาได้มีเจตนาลวงหรืออำพรางนิติกรรมอื่นไม่ส่วนการตกลงเรื่องโอนสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์นั้นชั้นแรกคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีมติให้บริษัทช. เข้าเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์โดยการรับโอนสิทธิจากจำเลยที่1แต่บริษัทช.จะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก5ล้านบาทเป็นอย่างน้อย20ล้านบาทภายใน6เดือนบริษัทช. ไม่อาจเพิ่มทุนได้เพราะที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ระหว่างบริษัทช. กับจำเลยที่1จึงยังไม่สมบูรณ์เรียบร้อยตามสัญญาจำเลยที่1ยังคงเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์อยู่เงื่อนไขที่ให้บริษัทช. เพิ่มทุนนั้นเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจของบริษัทช. เพราะการเพิ่มทุนต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของบริษัทช. หรือบริษัทช. ขัดขวางมิให้สัญญาซื้อขายเป็นผลสำเร็จโจทก์ย่อมมีสิทธิเป็นผู้รับสัญญากู้คืนและฟ้องจำเลยตามสัญญากู้และค้ำประกันได้ซึ่งโจทก์จะได้เงินมาจากใครนั้นไม่ใช่ข้อสำคัญเมื่อจำเลยที่1รับเงินไปจากโจทก์ก็ต้องคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้ดจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเป็นนิติกรรมอำพรางทำขึ้นเพื่อปกปิดการซื้อขายสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อนุมัติการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ให้บริษัทผู้ซื้อแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 14 ล้านบาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2522 จนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2523 โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามูลเหตุสืบเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2522 ระหว่างบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้ขายกับบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด ผู้ซื้อ ในราคา 15 ล้านบาทแต่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย ล.5 เพียง 1 ล้านบาทส่วนอีก 14 ล้านบาท นั้นปรากฎว่ามีเอกสารสำคัญเกิดขึ้น 2 ฉบับคือ สัญญากู้ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2522 ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.1 และบันทึกข้อตกลงในการฝากและคืนเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2522 ทำขึ้นที่ธนาคารเชสแมนฮัตตันจำกัด โดยโจทก์ จำเลยที่ 1 และธนาคารตกลงร่วมกันฝากสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ไว้กับธนาคารรายละเอียดปรากฎตามเอกสารหมาย ล.4เงิน 14 ล้านบาทที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้นั้นได้มาจากนายศิริชัยบูลกุล ซึ่งออกเช็คส่วนตัวเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารเชสแมนฮัตตันจำกัด แล้วโจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 14 ล้านบาท ให้แก่จำเลยที่ 1เหตุการณ์ทั้งหมดนี้กระทำภายในวันเดียวกันคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2522หลังจากนั้นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2522มีมติให้ทำการศึกษาโครงสร้างของผู้ถือหุ้น โครงสร้างของบริษัทฐานะการเงินของบริษัทและผู้บริหารงานของบริษัทโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่งตามเอกสารหมาย ล.17 ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2522คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้มีมติตั้งอนุกรรมการขึ้นพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทแล้วให้ทำความเห็นเสนอต่อที่ประชุม ตามเอกสารหมาย ล.18 ครั้งที่สามคณะกรรมการประชุม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2523 มีมติให้บริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด เข้าเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์โดยการรับโอนสิทธิจากบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งนี้ โดยขอให้บริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด สัญญาที่จะดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ รวม 5 ข้อด้วยกัน ตามเอกสารหมาย ล.19 ข้อ 1 คือเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจาก 5 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย 20 ล้านบาทและให้เรียกให้มีการชำระเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย 10 ล้านบาท ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน6 เดือน บริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด ได้แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ว่าการเพิ่มทุนนั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นซึ่งบริษัทได้เริ่มดำเนินการแล้วรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.20 ต่อมาบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด ให้แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ว่าที่ประชุมใหญ่ผูืถือหุ้นมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อนุมัติให้มีการเพิ่มทุนของบริษัท คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงมีมติไม่รับบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัดเข้าเป็นสมาชิกปรากฎตามเอกสารหมาย ล.21 ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับสมาชิกตามเอกสารหมาย ล.26และ ล.27 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้พิจารณาใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 30 ราย สมาชิกอาจโอนสิทธิในการเป็นสมาชิกให้แก่บริษัทหลักทรัพย์อื่นได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด จากข้อเท็จจริงที่ได้ความตามที่กล่าวมาข้างต้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าการโอนสิทธิในการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หาได้กระทำได้ตามความสมัครใจของผู้โอนและผู้รับโอนเท่านั้นไม่ ความสำคัญอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในการที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้โอนกันได้ด้วย ซึ่งในขณะทำสัญญาซื้อขายกันทั้งสองฝ่ายไม่มีทางรู้ว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการจะออกมาในรูปใดมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ ตลอดทั้งจะอนุมัติให้โอนกันได้หรือไม่ด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด ผู้ซื้อยอมชำระเงินค่าซื้อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 1ทันทีเป็นเงินถึง 14 ล้านบาท ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 อำพรางการชำระเงินค่าซื้อสิทธิบางส่วนไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใด เมื่อการโอนสิทธิแก่กันยังไม่เป็นที่แน่นอนดังกล่าววิธีที่จะให้จำเลยได้เงินไปใช้ก่อนนั้น ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าคู่กรณีได้เจรจาหาวิธีการที่จะบังคับกันได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะเงินที่จ่ายไปแล้วอาจต้องคืนถ้าตลาดหลักทรัพย์ไม่อนุมัติให้โอนสิทธิกันได้ ในที่สุดจึงตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยนายศิริชัย บูลกุล เป็นผู้หาเงินให้โจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 กู้อีกต่อหนึ่ง สัญญากู้หมาย จ.1 จึงเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายหาได้มีเจตนาลวงหรืออำพรางนิติกรรมอื่นใดไม่ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อทำสัญญากู้แล้วเพื่อป้องกันมิให้โจทก์นำสัญญากู้มาฟ้องจำเลยตามอำเภอใจจึงได้มีการตกลงทำสัญญากันตามเอกสารหมาย ล.4 ฝากสัญญากู้ไว้ต่อธนาคารเชสแมนฮัตตัน จำกัดมีข้อตกลงรวมทั้งหมด 4 ข้อ รายละเอียดปรากฎตามเอกสารนั้นแล้วตามข้อ 1 นั้น ถ้าหากบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำ่กัด เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ทะเบียนเลขที่ 12 “โดยสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วทุกประการ”ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิรับคืนเอกสาร ซึ่งมีผลเท่ากับไม่ต้องใช้หนี้เงินกู้นั่นเอง การที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้เงินกู้รายนี้หรือไม่จึงอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจจำ่กัด ได้รับอนุญาตในการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทะเบียนเลขที่ 12″โดยสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วทุกประการ” หรือไม่เป็นสำคัญ ก็เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดเงื่อนไขในการที่จะรับเข้าเป็นสมาชิกจนบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด ไม่สามารถปฏิบัติได้โดยมิใช่ความผิดของบริษัทหรือบริษัทขัดขวางมิให้สัญญาซื้อขายเป็นผลสำเร็จแต่อย่างใดเพราะการเพิ่มทุนนั้นต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นซึ่งนอกเหนืออำนาจของบริษัทที่จะปฏิบัติโดยลำพังได้ และที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นก็ไม่อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียน ในที่สุดการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจจำกัด กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ “สมบูรณ์เรียบร้อยแล้วทุกประการ”จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์อยู่จนกระทั่งปัจจุบันตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 2 โจทก์ย่อมมีสิทธิเป็นผู้รับสัญญากู้คืน กล่าวอีกนัยหนึ่งมีสิทธิฟ้องจำเลยตามสัญญากู้และค้ำประกันได้ เพราะมูลหนี้ตามสัญญากู้มิได้ระงับไปตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ตามเอกสารหมาย ล.5 แต่อย่างใดจำเลยรับเงินไปจากโจทก์ก็ต้องคืนให้โจทก์ตามสัญญา ส่วนโจทก์จะได้เงินมาจากใครในฐานะอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่ใช่ข้อสำคัญสำหรับกรณีนี้ ถ้าหากบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยธนกิจ จำกัด ได้เป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทะเบียนเลขที่ 12 โดย “สมบูรณ์เรียบร้อยแล้วทุกประการ”แล้วโจทก์ยังนำสัญญากู้มาฟ้องอีกข้อวินิจฉัยย่อมเปลี่ยนไปเป็นประการอื่นฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสามต้องรับผิดร่วมกันตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าต้องคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห้นว่าเมื่อตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไปและได้วินิจฉัยแล้ว สัยญาดังกล่าวใช้บังคับได้จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันกู้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น”.

Share