คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99เป็นเรื่องสำแดงรายการสินค้าอันเป็นเท็จ แต่จำเลยนอกจากได้สำแดงรายการสินค้าอันเป็นเท็จแล้ว ยังได้นำสินค้าที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรอันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อภาษีของ รัฐบาล ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 27ที่แก้ไขแล้ว จำเลยขอทำความตกลงระงับคดีต่อกรมศุลกากรตามมาตรา 102,102 ทวิอธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้รับทำความตกลงระงับคดีโดยให้จำเลยชำระค่าซื้อของกลางคืนเป็น 3 งวด งวดละหนึ่งเดือน โดยมีธนาคารเป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยมิได้ดำเนินการตามข้อตกลงอธิบดีกรมศุลกากรจึงขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลย เช่นนี้ คดียังไม่ระงับ อายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10เป็นอายุความในทางแพ่งเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าภาษีอากร ไม่ใช่อายุความการฟ้องคดีอาญา จำเลยกระทำผิดฐานไม่สำแดงรายการให้ตรงตามความจริง เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อภาษีของ รัฐบาล เมื่อวันที่25 ตุลาคม 2517 มีความผิดตามมาตรา 27 ซึ่งมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินสิบปี มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(2) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2527 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสินค้าซึ่งมีแหล่งกำเนิดและผลิตขึ้นในต่างประเทศ ยังมิได้เสียภาษีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า สำแดงชนิดของสินค้า จำนวนและราคาเป็นเท็จ กับไม่สำแดงรายการสินค้าบางอย่างในใบขนสินค้าเป็นการแสดงรายการต่ำกว่าที่เป็นจริง โดยมีเจตนาร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อภาษีของรัฐบาลขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ฯลฯประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงาน จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้าที่รวมค่าอากรแล้วเป็นเงิน1,116,786.20 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 2 มีกำหนด2 ปี ให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลร้อยละยี่สิบของเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือค่าปรับที่ชำระต่อศาลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับ ของกลางทั้งหมดให้ริบ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้นำสินค้าเข็มขัดหนัง กระดุมข้อมือทำด้วยโลหะ กำไลข้อมือทำด้วยโลหะ กระเป๋าใส่สตางค์และน้ำหอมจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2517 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่117-0160 สำแดงชนิดของสินค้า จำนวนและราคาสินค้าเพียง 21,184.35 บาทและชำระค่าอากรขาเข้า 12,145.65 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่สินค้าทั้งหมดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและประเมินราคาคิดเป็นเงิน 175,193.87 บาท ต้องชำระค่าอากรขาเข้า 104,002.68 บาทตามเอกสารหมาย จ.8 ราคาสินค้าขาดไป 154,009.42 บาท ค่าอากรขาเข้าขาดไป 91,857.03 บาท ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2520 จำเลยทั้งสองได้เข้ามอบตัวต่อสู้คดี จำเลยทั้งสองขอทำความตกลงระงับคดีอธิบดีกรมศุลกากรกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยทั้งสองซื้อสินค้าทั้งหมดคืนพร้อมด้วยชำระค่าอากรขาเข้าโดยให้ผ่อนชำระเป็น 3 งวด งวดละหนึ่งเดือน ตามเอกสารหมาย จ.21 จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามจึงได้ทำการสอบสวนดำเนินคดีที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27นั้นไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ได้มอบให้ชิปปิ้งหรือพนักงานออกของเป็นผู้ยื่นแสดงรายการ ชิปปิ้งยื่นแบบแสดงรายการเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 99นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 99 เป็นเรื่องสำแดงรายการสินค้าอันเป็นเท็จ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยทั้งสองได้สำแดงรายการสินค้าอันเป็นเท็จแล้วยังได้นำสินค้าที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรอันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อภาษีของรัฐบาลด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมาชอบแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 103 การประเมินราคาของเพื่อกำหนดเบี้ยปรับ ราคาของให้ถือเอาตามราคาของชนิดเดียวกันซึ่งได้เสียภาษีศุลกากร หรืออากรชั้นในครบถ้วนแล้วตามที่ซื้อขายในเวลาหรือใกล้เวลาที่กระทำผิดนั้น แต่ผู้กระทำผิดจะเลือกถือเอาตามราคาที่อธิบดีกำหนดให้ก็ได้จำเลยทั้งสองได้ยื่นแสดงรายการตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 และเจ้าหน้าที่ศุลกากรพอใจในราคาจึงต้องถือราคาตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4ศาลคำนวณค่าปรับโดยถือเอาราคาของในท้องตลาดเป็นราคาที่แท้จริงไม่ถูกต้องนั้น ตามคำเบิกความของร้อยตรีชุมพล พยัคพันธ์เจ้าหน้าที่กองพิธีการว่าได้ทำการประเมินราคาสินค้าต่ำกว่าราคาป้ายแสดงราคาสินค้า โดยหักค่าใช้จ่ายให้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์และจำเลยทั้งสองได้มาขอซื้อสินค้าคืนตามราคาประเมินรวมทั้งค่าอากรด้วย มิได้โต้แย้งการประเมินราคาสินค้าตามเอกสารหมาย จ.4 แต่ตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับการผ่อนชำระเท่านั้น ราคาสินค้าตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งถือเอาราคาของในท้องตลาดเป็นราคาที่แท้จริงและรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าปรับนั้นจึงถูกต้องแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลรับฟังใบประเมินราคาสินค้าตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบนั้น ปัญหาว่าใบประเมินราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.8 รับฟังได้หรือไม่เพียงใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ได้ตกลงผ่อนชำระค่าสินค้ารวมค่าอากรต่อกรมศุลกากรตามเอกสารหมาย จ.21 คดีย่อมระงับไป ตามมาตรา 102มาตรา 102 ทวิ นั้น ตามเอกสารหมาย จ.21 อธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้รับทำความตกลงระงับคดี โดยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าซื้อของกลางคืนเป็น 3 งวด งวดละหนึ่งเดือน โดยมีธนาคารเป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการตามข้อตกลง อธิบดีกรมศุลกากรจึงขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อไปตามเอกสารหมาย จ.22 คดีโจทก์ยังไม่ระงับ
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีขาดอายุความนั้น จำเลยทั้งสองได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและร่วมกันยื่นใบขนสินค้าขาเข้าแบบแสดงรายการการค้าเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2517 จำเลยไม่สำแดงรายการให้ตรงตามความจริงเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อภาษีของรัฐบาลมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้วซึ่งมีโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือจำคุกไม่เกินสิบปี ซึ่งมีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(2) ส่วนพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10เป็นอายุความในทางแพ่งเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าภาษีอากร ไม่ใช่อายุความการฟ้องคดีอาญา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2527คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share