คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8315/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2531 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 และยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2531 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2532 เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์เพื่อตรวจสอบภาษีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2534 จึงเป็นการออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 แบบภ.ง.ด.51 และแบบแสดงรายการการค้า ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นและชอบด้วยกฎหมาย
การออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าประมวลรัษฎากรได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 87 ตรี ซึ่งใช้บังคับขณะนั้น และได้บัญญัติอยู่ในหมวด 4 ภาษีการค้าส่วนที่ 7 ว่าด้วยอำนาจเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีการค้าของโจทก์ได้ภายในระยะเวลาตามมาตรา 88 ทวิ คือ (1)ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือ (2) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จ โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าสำหรับเดือนมิถุนายน 2531 ภายในกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 85 ทวิและเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีการค้าโจทก์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2534 จึงเป็นการออกหมายเรียกภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว
สิทธิเรียกร้องของรัฐเพื่อเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/31 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2537 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันยื่นแบบ ภ.ง.ด.50และแบบ ภ.ง.ด.51 จึงเป็นการแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในอายุความ
โจทก์ขายที่ดินพร้อมโรงงานแก่บริษัท ส.ต่ำกว่าราคาตลาดโดย ฉ.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดิน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการของโจทก์พิจารณาอนุมัติให้ขายที่ดินพร้อมโรงงานแก่ผู้ซื้อ และเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการของบริษัท ส.พิจารณาอนุมัติให้ซื้อที่ดินพร้อมโรงงานจากโจทก์ โจทก์และผู้ซื้อจึงมีความเกี่ยวพันกัน ทั้งโจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องขายที่ดินพร้อมโรงงาน จึงถือว่าโจทก์ขายที่ดินพร้อมโรงงานต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินในปัญหาว่าโจทก์ขายสบู่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์อุทธรณ์ปัญหานี้ โจทก์จะยกมากล่าวอ้างในชั้นศาลว่าการประเมินในปัญหานี้ไม่ถูกต้องหาได้ไม่
กรณีที่จะถือว่าการจัดทำประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีโดยมีเหตุอันสมควรนั้น ต้องมีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายของผู้ประกอบกิจการเช่นนั้นเกิดขึ้น มิใช่เหตุการณ์ปกติทางการค้าส่งผลให้การประมาณการผิดพลาดไป การที่โจทก์จัดทำประมาณการกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 สูงกว่ารอบระยะเวลาบัญชีปีที่ผ่านมามากกว่าเท่าตัว มิใช่เหตุผลจะอ้างได้ว่าโจทก์จัดทำประมาณการกำไรสุทธิขาดไปโดยมีเหตุอันสมควร
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาในระหว่างปี 2523 ถึงปี 2528 รวม 16แปลง คิดเป็นเนื้อที่รวม 319 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา และโจทก์ได้ก่อสร้างอาคารโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรเป็นโรงงานผลิตสุรา โจทก์เริ่มผลิตสุราจำหน่ายในปี 2529ต่อมาโจทก์ขายที่ดินพร้อมโรงงานไปในปี 2531 กิจการของโจทก์เป็นกิจการขนาดใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูง โจทก์จึงต้องวางแผนและศึกษาโครงการพร้อมทั้งวิธีแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้วอย่างดี จึงไม่อาจอ้างได้ว่ามีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของน้ำเสียและโจทก์ไม่มีที่ดินเพียงพอที่จะทำการแก้ปัญหาดังกล่าว พฤติการณ์การซื้อที่ดินของโจทก์และก่อสร้างโรงงานแล้วขายไปดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางการค้า โจทก์จึงต้องนำรายได้มาลงเป็นรายรับเพื่อคำนวณเสียภาษีการค้า เมื่อโจทก์มิได้นำรายได้จากการขายที่ดินพร้อมโรงงานมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าสำหรับเดือนภาษีมิถุนายน 2531ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2531 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2537 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภาษีการค้าภายในกำหนดอายุความ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
โจทก์ประกอบกิจการขายสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ยา และเครื่องสำอางมิได้ประกอบกิจการค้าขายที่ดิน จึงมีเหตุให้โจทก์เข้าใจได้ว่า การขายที่ดินพร้อมโรงงานของโจทก์มิได้มีลักษณะเป็นทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ถูกต้องครบถ้วนเว้นแต่รายรับจากการขายที่ดินพร้อมโรงงานเท่านั้น การที่โจทก์มิได้ลงรายรับดังกล่าว จึงมิใช่เพราะโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี หากแต่เกิดจากความเข้าใจผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับสำหรับภาษีการค้าให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีการค้าจำนวน 722,698.58 บาท เป็นภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้และตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ถึงปี 2524ที่โจทก์จ่ายเมื่อปี 2528 ถึงปี 2530 โจทก์นำมาถือจ่ายเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ถึงปี 2531 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงปรับปรุงให้ถือจ่ายตามรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายจริง รายจ่ายเหลื่อมปีดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามแต่จำเลยทั้งสี่กลับนำสืบว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและภาษีการค้าของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ถึงปี2524 ที่ค้างชำระรวมจำนวน 986,131.36 บาท มาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 แต่โจทก์แสดงจำนวนภาษีที่ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531เกินกว่าจำนวนที่ยอมให้หักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 ดังกล่าว เป็นเงิน722,698.58 บาท จึงถือเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ซึ่งกรณีดังกล่าวแม้ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9) แต่ก็คนละเหตุกับที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาท และต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ภาษีเงินได้และภาษีการค้าจำนวน 722,698.58 บาท มิใช่ภาษีที่โจทก์ชำระเหลื่อมปี จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9)
ปรากฏจากคำฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีไปยังโจทก์รวม 3 ฉบับ เป็นการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 (ครึ่งปี) 1 ฉบับ ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531(เต็มปี) 1 ฉบับ และประเมินภาษีการค้าสำหรับเดือนมิถุนายน 2531 อีก 1 ฉบับจึงเป็นกรณีที่โจทก์ถูกประเมินภาษีหลายคราว แล้วโจทก์รวมฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินมาเป็นคดีเดียว แม้จะได้ความว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหลายคราว แต่การประเมินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 มีทั้งการประเมินครึ่งปีกับเต็มปี จำนวนเงินภาษีของรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2531 จึงมียอดเงินภาษีของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 (ครึ่งปี) และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 (เต็มปี)อันเป็นจำนวนเดียวกัน จึงเป็นข้อหาเดียวเกี่ยวข้องกัน ส่วนการประเมินภาษีการค้าสำหรับเดือนมิถุนายน 2531 เป็นการประเมินภาษีคนละประเภทกันและแต่ละประเภทมีจำนวนเงินแยกออกจากกันได้ จึงมีสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแตกต่างกัน สภาพแห่งข้อหาตามฟ้องของโจทก์จึงไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกจากกันได้ การที่โจทก์รวมภาษีทั้งสองประเภทมาเป็นจำนวนเดียว และเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดเพียงจำนวนเดียวจึงไม่ถูกต้อง

Share