แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และ ย. ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว และเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 9 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัด ฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นของรัฐ อันเป็นการทำให้เป็นอันตราย และทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าดังกล่าว ตลอดทั้งได้ปลูกพืชไร่ในท้องที่ดังกล่าวคิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,330 ไร่ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้อง โดยเรียกร้องให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไปนั้น” ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มิใช่การฟ้องขอให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในมูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 199,500,000 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 116,739,344.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 316,239,344.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 199,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มพิจารณา จำเลยทั้งสิบเอ็ดยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์และจำเลยทั้งสิบเอ็ดอ้างส่งคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 8 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางปัด ภริยาเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นอนุญาตพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 9 ถึงแก่ความตาย นางสมคิด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งอนุญาต พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 5 ถึงแก่ความตาย นายประหยัด บุตรของจำเลยที่ 5 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำและพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกในคดีนี้ว่า การที่จำเลยกับพวกได้ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าดังกล่าว ตลอดทั้งได้ปลูกมันสำปะหลัง ต้นมะม่วง และพืชไร่ต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการทำให้เป็นอันตรายและทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องให้รับผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และนายใย ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว และเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 9 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัด ฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นของรัฐ อันเป็นการทำให้เป็นอันตราย และทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าดังกล่าว ตลอดทั้งได้ปลูกพืชไร่ในท้องที่ดังกล่าวคิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,330 ไร่ ถือได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้อง โดยเรียกร้องให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไปนั้น” ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มิใช่การฟ้องขอให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในมูลละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในบังคับอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกรวมทั้งนายใย ซึ่งถึงแก่ความตายแล้วโดยที่จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 เป็นทายาท กระทำความผิดระหว่างต้นเดือนมกราคม 2542 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2543 ต่อเนื่องกันตลอดเวลา จนวันฟ้อง (วันที่ 7 พฤษภาคม 2551) ยังไม่พ้นระยะเวลา 10 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสอง วินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ แล้วพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเนื่องจากคดีนี้ยังมิได้มีการสืบพยาน จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 243 (2)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิบเอ็ด จนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ