คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องมีสำเนาทะเบียนนักเรียนว่าผู้ร้องเป็นบุตร ส. กับผ.อยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเกิดวันที่ 30 มีนาคม 2481 และมีบุคคลหลายคนรู้จักผู้ร้องตั้งแต่ผู้ร้องยังเป็นเด็กว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทย ขณะ ผ. จะคลอดผู้ร้องนั้น ล. เป็นคนตามแพทย์มาทำคลอด และเห็นผู้ร้องวิ่งเล่นที่บ้านของ ล.เป็นประจำ จนกระทั่งผู้ร้องอายุ 8 ขวบ ป. เจ้าของร้านถ่าย รูปฉายาธงชัย กับ บ. ผู้ล้างและอัดรูปของร้านดังกล่าวยืนยันว่ารูปถ่าย หมาย ร.12,13,14ถ่ายที่ร้านฉายาธงชัย(ถ่าย ก่อนผู้ร้องเดินทางออกจากประเทศไทย) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติเวช มีความเห็นว่า น่าเชื่อว่าบุคคลตามภาพถ่ายหมาย ร.12 ถึงร.21เป็นบุคคลคนเดียวกันภาพถ่ายหมายร.21 เป็นภาพถ่ายของผู้ร้องซึ่งถ่าย ในประเทศไทย เมื่อ 2526 ดังนั้น จึงน่าเชื่อว่า ผู้ร้องเกิดในประเทศไทย ส่วนหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้ร้องทำขึ้นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นก็เพราะความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ของผู้ร้องขณะที่อยู่ในประเทศนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นคนเกิดในประเทศไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 3(3).

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมา พ.ศ. 2490 ขณะที่ผู้ร้องอายุ 9 ขวบ ผู้ร้องเดินทางติดตามบิดามารดาไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาบิดาผู้ร้องได้เดินทางกลับประเทศไทยและถึงแก่กรรม ส่วนผู้ร้องกับมารดาไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ เพราะเกิดสงครามในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมา พ.ศ. 2526 ผู้ร้องเดินทางกลับมาประเทศไทยและได้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อกองตรวจคนเข้าเมืองกรมตำรวจ แต่กองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ สั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยได้
ผู้คัดค้านคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้เกิดในประเทศไทย จึงไม่มีสัญชาติไทย ผู้ร้องเกิดที่เมืองกวางเจา จังหวัดกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสัญชาติจีน ผู้ร้องอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนานถึง 36 ปี ถือได้ว่าเป็นการสละสัญชาติแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยหรือไม่…ผู้ร้องมีหลักฐานสำเนาทะเบียนนักเรียนเอกสารหมาย ร.4 มาแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรนายเส็งหรือยี่เส็งกับนางผู่ตี้อยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเกิดวันที่ 30 มีนาคม 2481 จริง นอกจากนี้ นายบวร สุขหรรษา นายสำอางค์สุขพัชรี นายจินดา เกิดลาภ นายสำราญ มีคุณ และนางทองหล่อ สุขขีไทยยังเบิกความเป็นพยานผู้ร้องยืนยันว่า ผู้ร้องเกิดในประเทศไทย และพยานรู้จักผู้ร้องตั้งแต่ผู้ร้องยังเป็นเด็ก และนางลำใย อรรถฉัตรเบิกความว่า ขณะนางผู่ตี้จะคลอดผู้ร้องนั้นพยานเป็นคนตามหมอมาทำคลอดและเห็นผู้ร้องจนกระทั่งผู้ร้องอายุ 8 ขวบ ผู้ร้องเที่ยววิ่งเล่นที่บ้านของพยานเป็นประจำ นางโบ๊ตัว แซ่เห่ง เบิกความว่า รูปถ่ายเอกสารหมาย ร.12, 13, 14 ถ่ายที่ร้านฉายาธงชัยของตน มีนายบ๊วยเตียงทำหน้าที่ล้างรูป อัดรูปและตียี่ห้อของร้านที่รูป และนายบ๊วยเตียงแซ่เฮง เบิกความยืนยันว่ารูปถ่ายเอกสารหมาย ร.12, 13, 14 ถ่ายที่ร้านฉายาธงชัยจริง ศาสตราจารย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เบิกความว่าพยานทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตำแหน่งศาสตราจารย์ทางนิติเวชศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2526มีความเชี่ยวชาญทางด้านนิติเวช การตรวจพิสูจน์ภาพถ่ายเป็นการปฏิบัติงานในหน่วยวัตถุพยานของภาควิชานิติเวช ซึ่งพยานเป็นหัวหน้าอยู่มีความเห็นว่า น่าเชื่อว่าบุคคลตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.12 ถึง ร.21เป็นบุคคลเดียวกัน และได้ทำรายงานการตรวจวัตถุพยานส่งศาลตามเอกสารหมาย ป.ร.1 ปรากฏว่าภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.21 เป็นภาพถ่ายของผู้ร้องซึ่งเพิ่งถ่ายในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2526 เห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า ผู้ร้องเกิดในประเทศไทยจริง ส่วนหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้ร้องทำขึ้นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นน่าเชื่อว่าผู้ร้องและมารดาจำเป็นต้องกล่าวอ้างเช่นนั้นเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ของผู้ร้องขณะที่อยู่ในประเทศนั้น พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้าน ฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นคนเกิดในประเทศไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3(3)…”
พิพากษากลับว่า นายเนี้ยว วงษ์วิโรจน์หรือ ซิง ฟู เจิน ผู้ร้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย.

Share