คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่สารบรรณของจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ขับรถ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 3 โดย น.ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ยินยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ขับ และนั่งมาด้วย กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นหน้าที่ของ น.ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ต้องควบคุมให้จำเลยที่ 1 ขับรถนั้นมิให้เกิดเหตุร้าย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุแทน น.ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์เสียหาย น.ต้องรับผิดในการละเมิดที่เกิดขึ้น การละเมิดนี้ย่อมนับได้ว่าอยู่ในกรอบแห่งการที่จำเลยที่ 3 จ้าง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
คำฟ้องเดิมของโจทก์ระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์จำเลยที่ชนท้ายรถยนต์โจทก์ โดยถือตามบันทึกหมายเลข ทะเบียนรถของพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุซึ่งผิดพลาดต่อมาโจทก์จึงยึ่นคำร้องขอแก้ไขฟ้อง โดยขอแก้หมายเลขทะเบียนรถของจำเลยเฉพาะเลขตัวหน้าตัวเดียวให้ถูกต้องตามความจริงดังนี้ เป็นเรื่องแก้ไขความผิดพลาดเล็กน้อยที่โจทก์เพิ่งทราบหลังจากการชี้สองสถานแม้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตไปโดยไม่ ฟังข้อคัดค้านของจำเลยก็ตาม ก็ถือว่าชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว
คำฟ้องเดิมของโจทก์ระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของจำเลยว่า “ก.ท.พ 2077” ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องเป็นว่า “ก.ท.พ 2077 หรือ ก.ท.พ 3077” ดังนี้ ย่อมเป็นการขอแก้หมายเลขทะเบียนรถคันเกิดเหตุที่แท้จริงว่าเป็น ก.ท.พ 3077 นั่นเอง ทั้งคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 และไม่เคลือบคลุม
ภาพถ่ายรถยนต์ของโจทก์ที่โจทก์อ้างประกอบคดีนั้นเป็นภาพจำลองวัตถุ ไม่จำต้องส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์ ก.ท.ฑ ๒๒๕๓ โดยเช่าซื้อจากบริษัทแองโกลไทยมอเตอร์ จำกัด จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๓ ตำแหน่งพนักงานขับรถ เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ ก.ท.พ ๒๐๗๗ หรือ ก.ท.พ ๓๐๗๗ ในขณะเกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลรถยนต์ ก.ท.พ ๒๐๗๗ หรือ ก.ท.พ ๓๐๗๗ ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๔ เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างจำเลยที่ ๓ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๓ คันดังกล่าวในทางการที่จ้างและตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่ระมัดระวังชะลอรถหรือหยุดรถให้รถข้างหน้าผ่านพ้นไปก่อน และดูแลความปลอดภัยอันอาจจะเกิดขึ้นเป็นเหตุให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.พ.พ ๒๐๗๗ หรือ ก.ท.พ ๓๐๗๗ พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ซึ่งวิ่งอยู่ข้างหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้รับความเสียหายหลายอย่าง ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหาย ๘๗,๗๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและจำเลยที่ ๒,๓ ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รถยนต์ ก.ท.พ ๒๒๕๓ ไม่ใช่ของโจทก์และโจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครองโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลรถยนต์ของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์ ก.ท.พ ๒๐๗๗ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และไม่ได้ขับรถยนต์ประมาท ความประมาทเกิดจากโจทก์ขับรถยนต์ของโจทก์แซงขึ้นหน้ารถที่จำเลยที่ ๑ ขับเมื่อแซงพ้นแล้วก็หยุดกระทันหัน ทำให้รถที่จำเลยที่ ๑ ขับหยุดไม่ทันรถที่จำเลยที่ ๑ ขับจึงชนรถโจทก์ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหากจะฟังว่าเสียหายความเสียหายก็มีเพียง ๑๐,๐๐๐ บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๕๗,๔๒๔ บาท ให้โจทก์กับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน ๕๗,๔๒๔ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้โจทก์ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ ๓๐๗๗ ได้อนุมัติให้จำเลยที่ ๒ นำรถคันดังกล่าวไปราชการของจำเลยที่ ๓ โดยให้นายนอบ แดงน้อย ลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ ๓ เป็นคนขับ มีจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างทำหน้าที่สารบรรณของจำเลยที่ ๓ ไม่มีหน้าที่ขับรถนั่งไปด้วย ตอนขากลับนายนอบได้ยินยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ ๑ ขับรถ จำเลยที่ ๑ ขับรถคันดังกล่าวด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ที่เช่าซื้อและอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในวันเกิดเหตุ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๕๗,๔๒๔ บาท
วินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่าคำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์ที่ขอแก้หมายเลขทะเบียนรถของจำเลยเป็นคำร้องเคลือบคลุม เพราะไม่ทราบว่ารถคันใดแน่นอนนั้นเห็นว่าเป็นการร้องแก้หมายเลขทะเบียนรถคันเกิดเหตุจาก ก.ท.พ ๒๐๗๗ เป็น ก.ท.พ ๓๐๗๗ จึงขอแก้เป็น ก.ท.พ ๒๐๗๗ หรือ ก.ท.พ ๓๐๗๗ ซึ่งก็คือ ขอแก้หมายเลขทะเบียนรถคันเกิดเหตุซึ่งแท้จริงว่า ก.ท.พ ๓๐๗๗ นั้นเองคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้อท้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ แล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นในทางการที่จ้างหรือไม่ วินิจฉัยว่ากรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่นายนอบลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ จำต้องควบคุมให้จำเลยที่ ๑ ขับรถนั้นมิให้เกิดเหตุร้าย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ขับรถคันเกิดเหตุของจำเลยที่ ๓ แทนนายนอบลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์เสียหายนายนอบต้องรับผิดชอบในการละเมิดที่เกิดขึ้นการละเมิดนี้ย่อมนับว่าอยู่ในกรอบแห่งการที่จำเลยที่ ๓ จ้าง จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในการละเมิดครั้งนี้
ประเด็นเรื่องการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตไปแล้วชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่ วินิจฉัยว่า โจทก์ขอแก้หมายเลขทะเบียนรถของจำเลยเฉพาะเลขตัวหน้าตัวเดียวโดยเดิมโจทก์ถือตามบันทึกหมายเลขทะเบียนรถ ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังน้อยว่า ก.ท.พ ๒๐๗๗ ที่ผิดพลาด ทั้งนี้ เป็นการแก้เพื่อให้ตรงตามความจริง คือ ก.ท.พ ๓๐๗๗ ตามที่โจทก์ได้เรียกทะเบียน ก.ท.พ ๓๐๗๗ ที่แท้จริงมาประกอบคดีด้วยแล้ว ถึงแม้ศาลจะสั่งโดยไม่ฟังข้อคัดค้านของจำเลยก็ตาม เห็นว่าเป็นการแก้ไขความผิดพลาดเล็กน้อย ที่โจทก์เพิ่งทราบหลังจากการชี้สองสถานจำเลยที่ ๓ ก็นำสืบรับว่ารถหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ ๓๐๗๗ เป็นของจำเลยที่ ๓ ซึ่งชนท้ายรถของโจทก์จริง จำเลยที่ ๓ จึงไม่เสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาอีกว่าไม่ควรรับฟังภาพถ่ายรถของโจทก์หมาย จ.๑ จ.๒ ที่โจทก์อ้างประกอบคดี เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยานนั้น เห็นว่าภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพจำลองวัตถุไม่ใช่พยานอันจะต้องส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน ตามกฎหมายโจทก์ผู้อ้างจึงไม่ต้องส่งสำเนาให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยาน
พิพากษายืน

Share