คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่เกิดขึ้นนอกเขตจังหวัดพระนครและธนบุรีนั้น เมื่อศาลแพ่งได้ประทับรับฟ้องคดี รวมทั้งรับคำให้การจำเลยตลอดจนสืบพยานทั้งสองฝ่ายจนสิ้นกระบวนความ ถือว่าศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าเสียหายกับดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นหลายข้อ เฉพาะประเด็นที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของ ศาลฎีกามีว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดธนบุรีตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งหรือไม่

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้วินิจฉัยเฉพาะประเด็นข้อ 1 และพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 148 หมู่ 12 ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี แต่จำเลยที่ 1มีบัตรประจำตัวประชาชน มีสำเนาทะเบียนบ้าน มาแสดงว่าจำเลยอยู่ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จำเลยที่ 2 ก็มี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดราชบุรี คดีเช่นนี้โจทก์จำต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดราชบุรีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เมื่อโจทก์ระบุภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ไม่ตรงกับความจริง เท่ากับฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(3) พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลแพ่งหรือไม่

ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 148 หมู่ 12 ถนนสุขสวัสดิ์ อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรีแต่เมื่อพนักงานเดินหมายของศาลแพ่งนำหมายนัดและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว ปรากฏว่าส่งไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยอยู่ในบ้านเลขที่นั้นเลย ปรากฏตามรายงานการเดินหมายลงวันที่ 5 มกราคม 2516 ศาลชั้นต้นสั่งรายงานฉบับนั้นว่า รอฟังโจทก์แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งนั้น ครั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทนายความและยื่นคำให้การเฉพาะภูมิลำเนาความว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 11/1 หมู่ 3 ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นได้สั่งรับคำให้การจำเลยที่ 2 และทำการชี้สองสถาน กำหนดประเด็นที่จะพิจารณา รวมทั้งได้สืบพยานของโจทก์จำเลยจนเสร็จสิ้นกระบวนความแล้วจึงได้พิพากษาคดี ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ประทับรับฟ้องคดีไว้แล้วรวมทั้งรับคำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดจนสืบพยานทั้งสองฝ่ายจนสิ้นกระบวนความ ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ใหม่ตามรูปความ

Share