คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3215/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 21มีนาคม 2529 จำเลยที่ 6 ศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่30 พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 6 กลับมาประเทศไทยซึ่งจำเลยที่ 6มีภูมิลำเนาอยู่แห่งเดียวกับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาและจำเลยที่ 5ซึ่งเป็นพี่ชาย ดังนี้ จำเลยที่ 6 จะต้องได้พบกับจำเลยที่ 2อย่างช้า ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2529 และจำเลยที่ 2 จะต้องแจ้งเรื่องถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้จำเลยที่ 6 ทราบการที่จำเลยที่ 6 มายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 14 ตุลาคม2530 จึงพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 6 ขาดนัดพิจารณา ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม2529 และพิพากษาให้จำเลยทั้งหกเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่27 กรกฎาคม 2530
จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 6ศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งกลับประเทศไทย เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2529 และเพิ่งทราบว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2530
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 6 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 6 และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 6 ซึ่งไปศึกษาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกายังอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 6 เพิ่งเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 6มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 548 ซอยนาทอง แขวงห้วยขวางเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แห่งเดียวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นพี่ชายจำเลยที่ 6 ปัญหาวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 6 ทราบคำสั่งศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 6 เด้ดขาดเมื่อใด และจำเลยที่ 6 ได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 15 วันนับจากวันที่ได้ทราบคำสั่งศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 6 เด็ดขาดหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 6 นำสืบว่า จำเลยที่ 6 ไปศึกษาและอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานานประมาณ 4 ปี เมื่อจำเลยที่ 6 ได้เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2529นั้น จำเลยที่ 6 ได้ไปพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 10/21 ถนนสุทธิสารแขวงดินแดง เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของตาจำเลยที่ 6จำเลยที่ 6 ไม่ได้พบกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 เลย ต่อมาวันที่12 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 6 ได้ไปติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอรับหนังสือเดินทางที่จำเลยที่ 6 ไปขอต่ออายุไว้ ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศว่าหนังสือเดินทางได้ถูกอายัดไว้ให้จำเลยที่ 6 ไปติดต่อที่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จำเลยที่ 6จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 6เด็ดขาด พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 6 ไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานหลายปี เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยเชื่อว่าต้องรีบไปพบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาอย่างแน่นอน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ต่อกันฉันมารดากับบุตรอย่างลึกซึ้ง และเมื่อพบกันแล้วจำเลยที่ 2 จะต้องแจ้งเรื่องที่จำเลยที่ 6 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้จำเลยที่ 6 ทราบ เพราะเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินตลอดจนอนาคตของจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 6 จะต้องได้พบกันอย่างช้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2529 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากกลับถึงประเทศไทย ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 6 ทราบเรื่องที่ถูกโจทก์ฟ้องและศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 6เด็ดขาดในวันที่ 1 ธันวาคม 2529 ที่จำเลยที่ 6 นำสืบอ้างว่าไม่ได้พบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดานั้นจึงไม่สมเหตุผลรับฟังไม่ได้ การที่จำเลยที่ 6 มายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2530 จึงพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 6 เด็ดขาดแล้วคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 6 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคแรกบัญญัติไว้ จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาใหม่ได้ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป…”
พิพากษากลับให้ยกคำขอพิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 6.

Share