คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2603/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฎฐ แห่งประมวลรัษฎากรได้ขยายเวลาชำระและนำส่งภาษีอากรเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เสียภาษีอากรได้ยื่นชำระภาษีอากรให้ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มใด ๆ ทั้งนี้มีเงื่อนไขในข้อ 4 ว่าในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร รับแจ้งการประเมินก่อนวันที่ที่ลงในแถลงการณ์ แต่ยังมิได้ชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนตามกำหนดเวลาในแบบแจ้งการประเมิน และพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากได้นำภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่นั้นไปชำระภายในระยะเวลาตามข้อ 7 แล้วผู้นั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มใด ๆ สำหรับภาษีอากรส่วนที่ชำระนั้น ถ้าภาษีอากรค้างนั้น ค้างอยู่ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือต่อศาล ผู้เสียภาษีอากรต้องขอถอนอุทธรณ์หรือถอนฟ้องนั้นและได้รับอนุมัติเสียก่อน การที่ลูกหนี้ผู้เสียภาษีอากรซึ่งถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น มิใช่กรณีลูกหนี้ซึ่งถูกแจ้งการประเมินภาษีอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือต่อศาล จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของแถลงการณ์กระทรวงการคลังดังกล่าวดังนั้น เมื่อลูกหนี้ชำระค่าภาษีอากรค้างให้โจทก์ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด ลูกหนี้ย่อมได้รับยกเว้นเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังโดยไม่ต้องขอถอนฟ้องก่อน ลูกหนี้ซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีเจ้าหนี้เพียงรายเดียวคือโจทก์ การที่ลูกหนี้ชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรง ย่อมไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น การชำระหนี้ของลูกหนี้จึงเท่ากับเป็นการชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อหนี้สินของลูกหนี้ได้ชำระเต็มจำนวนแล้วเหตุที่จะให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมหมดไป จึงต้องยกเลิกการล้มละลาย

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์แจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ (จำเลย) ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้โจทก์รวม 326,425.40 บาท ลูกหนี้ไม่อุทธรณ์การประเมินและไม่ชำระค่าภาษีอากร โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ 29 สิงหาคม 2526ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ 18 กันยายน2528 ลูกหนี้ยื่นคำร้องว่าขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาก่อนศาลนั้นพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดนั้น ได้มีแถลงการณ์กระทรวงการคลังลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2525 เปิดโอกาสให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรชำระภาษีอากรเพิ่มเติมให้ถูกต้องภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2525โดยผู้เสียภาษีจะได้รับประโยชน์ที่จะไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับใด ๆ สรรพากรจังหวัดนนทบุรีจึงมีหนังสือลงวันที่ 21มีนาคม 2525 แจ้งให้ลูกหนี้ทราบว่าตามที่ได้แจ้งประเมินไปยังลูกหนี้ว่าเป็นหนี้ภาษีอากรจำนวน 296,800.98 บาท นั้น หากลูกหนี้จะชำระเงินภาษีอากรภายในระยะเวลาข้างต้น ลูกหนี้จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังคงต้องชำระเฉพาะเงินภาษีอากรเพียง 88,806.33 บาท เท่านั้นลูกหนี้จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระต่อสรรพากรอำเภอเมืองนนทบุรีโดยมีเงื่อนไขตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังข้อ 4 ที่ว่า “ถ้าภาษีอากรค้างนั้น ค้างอยู่ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือต่อศาล ผู้เสียภาษีอากรต้องขอถอนอุทธรณ์หรือถอนฟ้องนั้นและได้รับอนุมัติเสียก่อน” ลูกหนี้จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต โจทก์จึงไม่รับเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวและส่งเงินนั้นเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายลูกหนี้เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 3 อัฎฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรได้ แต่หาได้มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ขอถอนฎีกาและให้ศาลอนุญาตเสียก่อนไม่ ดังนั้น ข้อตกลงที่ลูกหนี้ทำไว้กับสรรพากรอำเภอเมืองนนทบุรีเรื่องขอถอนฎีกาและศาลฎีกาต้องอนุญาตเสียก่อนจึงไม่มีผลแต่อย่างใด เมื่อลูกหนี้ชำระภาษีอากรตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังแล้ว จึงไม่มีภาษีอากรที่ลูกหนี้จะต้องชำระให้โจทก์อีก หนี้สินของลูกหนี้ในคดีนี้จึงเป็นอันได้ชำระเต็มจำนวนแล้วขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(2)และ (3) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า สรรพากรอำเภอเมืองนนทบุรีรับเงินค่าภาษีของลูกหนี้ไว้โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าภาษีอากรที่ค้างนั้นศาลไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ถือว่าการชำระภาษีของลูกหนี้ไม่เข้าเงื่อนไขตามแถลงการณ์กระทรวงการคลัง เมื่อศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ถอนฎีกาสรรพากรอำเภอเมืองนนทบุรีจึงส่งเงินจำนวนนั้นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้สำหรับแบ่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียวที่ขอรับชำระหนี้และศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรจำนวน337,315.70 บาท ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับเงินไว้แล้วได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์เป็นครั้งที่สุด (ครั้งเดียว) ตามพระราชบัญญัติล้มละลายโดยหักค่าธรรมเนียมไว้ร้อยละ 5 คงจ่ายส่วนแบ่งให้โจทก์เป็นเงิน 79,134.26 บาท กรณียังถือไม่ได้ว่า ลูกหนี้ได้ชำระหนี้เต็มจำนวนที่จะเป็นเหตุให้ยกเลิกการล้มละลายตามที่ขอได้การยกเลิกการล้มละลายในกรณีนี้จะต้องเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 135(4) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ครั้งที่สุดแล้วภายในกำหนดเวลา 10 ปี ต่อแต่นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายจึงจะยกเลิกการล้มละลายได้ ขอให้ยกคำร้อง ส่วนโจทก์คัดค้านว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังที่กล่าวข้างต้น โจทก์ได้รับเงินตามคำร้องของลูกหนี้โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าศาลไม่อนุมัติให้ถอนฟ้องให้ถือว่าลูกหนี้ไม่มีสิทธิชำระภาษีตามแถลงการณ์ ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยถอนฎีกา จึงถือว่าลูกหนี้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้วไม่ได้ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกเลิกการล้มละลายแก่จำเลย โจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ลูกหนี้ฎีกาลูกหนี้จะต้องขอถอนฎีกาและศาลอนุญาตเสียก่อน จึงจะได้รับประโยชน์ตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าแถลงการณ์กระทรวงการคลังตามภาพถ่ายท้ายคำร้องของลูกหนี้ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฎฐแห่งประมวลรัษฎากร จึงขยายเวลาชำระและนำส่งภาษีอากรเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เสียภาษีอากร ได้ยื่นชำระภาษีอากร ให้ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มใด ๆ ทั้งนี้ตามเงื่อนไขและเวลาดังต่อไปนี้
ข้อ 4 ในกรณีผู้มีหน้าที่เสีย ภาษีอากร รับแจ้งการประเมินก่อนวันที่ที่ลงในแถลงการณ์นี้ แต่ยังมิได้ชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนตามกำหนดเวลา ในแบบแจ้งการประเมิน นั้นและพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากได้นำภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่นั้นไปชำระภายในระยะเวลาตามข้อ 7 แล้ว ผู้นั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มใด ๆ สำหรับภาษีอากรส่วนที่ชำระนั้น
ถ้าภาษีอากรค้างนั้น ค้างอยู่ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือต่อศาล ผู้เสียภาษีอากรต้องขอถอนอุทธรณ์หรือถอนฟ้องนั้น และได้รับอนุมัติเสียก่อน
ตามนี้จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่ผู้เสียภาษีอากรอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีที่ผู้เสียภาษีอากรถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น หาอยู่ในเงื่อนไขตามแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังที่ผู้เสียภาษีอากรจะต้องขอถอนอุทธรณ์ ฎีกาและได้รับอนุมัติจากศาลเสียก่อนดังที่โจทก์ฎีกาไม่กรณีของลูกหนี้ก็เช่นเดียวกัน ลูกหนี้มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือต่อศาลในเรื่องการประเมินแต่ประการใด ดังนั้น ลูกหนี้จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขตามแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อลูกหนี้นำเงินเฉพาะภาษีอากร 88,806.33 บาท ไปชำระให้โจทก์ ตามที่สรรพากรจังหวัดนนทบุรีแจ้งมา ลูกหนี้ก็ได้รับประโยชน์โดยได้รับยกเว้นเงินเพิ่มและเบี้ยปรับทั้งหมดตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังที่กล่าวข้างต้นลูกหนี้จึงชำระหนี้ภาษีอากรค้างให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีในปัญหาข้อนี้มาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว หากลูกหนี้จะชำระหนี้ก็จะต้องชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 จะไปชำระต่อเจ้าหนี้ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นก็เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลายที่จะได้รับชำระหนี้โดยเสมอภาคแต่คดีนี้ลูกหนี้มีเจ้าหนี้คือโจทก์เพียงรายเดียวการที่ลูกหนี้ชำระหนี้ให้โจทก์โดยตรง จึงไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นแต่ประการใด ทั้งมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการที่ลูกหนี้ชำระหนี้โดยผ่านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพราะเมื่อรับชำระหนี้ไว้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องชำระให้โจทก์ดังนั้นการที่ลูกหนี้ชำระหนี้ให้โจทก์ในกรณีเช่นนี้ จึงเท่ากับเป็นการชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 บัญญัติไว้เช่นกัน เมื่อหนี้สินของลูกหนี้เป็นอันได้ชำระเต็มจำนวนแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกเลิกการล้มละลายชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share