คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147-148/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคาร ก. ค้ำประกันบริษัท จ. ต่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยว่า หากบริษัท จ. ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญา ซึ่งการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับและหรือค่าเสียหายใด ๆจากบริษัท จ. ได้แล้ว ธนาคาร ก. ยอมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้บริษัท จ. ชำระก่อน การที่บริษัท จ. ผิดสัญญาซื้อขาย การสื่อสารแห่งประเทศไทยย่อมมีสิทธิเรียกค่าปรับ และค่าเสียหายตามสัญญาและเมื่อบริษัท จ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดแล้วการสื่อสารแห่งประเทศไทยย่อมมีอำนาจฟ้องธนาคาร ก. ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 แม้ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิก สัญญาซื้อขายต่อบริษัท จ. ก่อนก็ตาม
สัญญาซื้อขายระหว่างบริษัท จ. กับการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินคือภายในวันที่ 3 กรกฎาคม2528 เมื่อบริษัท จ. ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเวลาตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสองการสื่อสารแห่งประเทศไทยจึงมีสิทธิที่จะเรียกให้ธนาคาร ก. ผู้ค้ำประกันบริษัท จ. ชำระหนี้ได้แต่นั้นตามมาตรา 686 อันเป็นวันที่จำเลย อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่ธนาคาร ก. ได้อายุความจึงเริ่มนับแต่ วันดังกล่าว มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาค้ำประกันในวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 และสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อนับถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยฟ้องคดียังไม่พ้นกำหนด 10 ปีจึงไม่ขาดอายุความ
การสื่อสารแห่งประเทศไทยฟ้องบริษัท จ. โดยไม่ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายและได้มีคำขอบังคับให้บริษัท จ. ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์พร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์ตามสัญญาซื้อขายแล้ว หากให้บริษัท จ. ชำระค่าเสียหายในราคาอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยซื้อมาใช้งานก็จะเป็นการให้ค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนกับคำขอบังคับให้บริษัท จ. ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว จึงกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกบริษัทจักรวาลเทเลคอมซิสเท็ม จำกัด โจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกการสื่อสารแห่งประเทศไทย จำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังเป็นจำเลย
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ยังค้างอยู่ในงวดที่สองและงวดที่สามตามสัญญาเป็นเงิน 15,415,909.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 9,248,945.70 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น24,663,855.20 บาท และดอกเบี้ยจากต้นเงิน 15,414,909.50 บาทในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินค่างานล่วงหน้าของโจทก์ที่ 2 เลขที่ สว. ค.ส.183/2526 ฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2526จำนวนเงิน 30,145,115.80 บาท และใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,564,831.98บาท และค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนหนังสือค้ำประกันฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1
สำนวนหลังจำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองขอให้บังคับโจทก์ที่ 1ให้ปฏิบัติตามสัญญา โดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์แก่จำเลย หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา ให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนอุปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ในอาคารของจำเลยออกไปและคืนเงินที่ได้รับไปแล้วจำนวน 88,529,506.70บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จ กับใช้ค่าเสียหายจำนวน 6,740,975,355.32บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าปรับตามสัญญาจำนวน 825,983,754บาท และค่าปรับวันละ 226,483.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมติดตั้งในระบบสมบูรณ์ในสภาพที่สามารถใช้งานได้แก่จำเลยตามสัญญาหรือจนถึงวันที่โจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จ และชำระเงินค้ำประกันสัญญาจำนวน 14,833,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จ กับให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 15,162,896.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 14,833,710 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 2 จะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองในสำนวนหลังให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความ เพราะสัญญาค้ำประกันทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 จำเลยฟ้องให้โจทก์ที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เกินกว่า 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา โดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมายพร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์แก่จำเลย หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา ให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนอุปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ในอาคารของจำเลยออกไป และคืนเงินที่ได้รับไปแล้วจำนวน 88,529,506.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 18,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 2 ร่วมชำระหนี้ของโจทก์ที่ 1 จำนวน 14,833,710 บาท ในฐานะผู้ค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน15,414,909.50 บาท ตามสัญญางวดที่สองและงวดที่สามกับดอกเบี้ยจำนวน 9,248,945.70 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 15,414,909.50 บาท นับแต่วันฟ้องสำนวนแรกเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด5,000 เลขหมาย พร้อมการติดตั้งในระบบที่เรียบร้อยสมบูรณ์แก่จำเลยและรับเงินส่วนที่เหลือตามสัญญา หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ให้โจทก์ที่ 1 คืนเงินค่าอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์จำนวน 88,529,506.70 บาท รวมทั้งเงินตามสัญญางวดที่สองและงวดที่สามหากรับไปแล้วให้แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือนับจากวันรับเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย พร้อมกับให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ที่โจทก์ที่ 1 ติดตั้งไว้ในอาคารของจำเลยออกไปทั้งหมด กับให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องสำนวนหลังจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 18,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 จนกว่าจะชำระแก่จำเลย ให้โจทก์ที่ 2 ร่วมกับโจทก์ที่ 1ชำระเงินจำนวน 14,833,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 โจทก์ที่ 1 และจำเลยทำสัญญาซื้อขายชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ การฝึกอบรม และการติดตั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 148,337,062 บาท กำหนดส่งมอบของตามสัญญาให้แก่จำเลย ณ กองเทเล็กซ์การสื่อสารแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 สำหรับการจ่ายเงินค่าสิ่งของพร้อมการติดตั้งตามสัญญากำหนดไว้รายการข้อ 1.7 และ 1.8 จ่ายให้เต็มตามราคาแต่ละส่วนเมื่อโจทก์ที่ 1 ดำเนินการแต่ละส่วนตามสัญญาเสร็จเรียบร้อยทุกประการแล้ว สำหรับรายการอื่นส่วนที่เหลือแบ่งจ่ายเป็นสี่งวด งวดที่หนึ่งจ่ายให้ล่วงหน้าภายใน 30 วัน หลังจากโจทก์ที่ 1 และจำเลยลงนามในสัญญาจำนวนเงิน 33,861,686.80 บาท งวดที่สองจ่ายให้เป็นเงินจำนวนร้อยละ 25 ของราคาสิ่งของที่ส่งมอบในแต่ละงวดและจำเลยตรวจจำนวนของที่ส่งมอบในแต่ละงวดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งวดที่สามจ่ายให้เป็นเงินจำนวนร้อยละ 25 ของราคาของในแต่ละส่วน เมื่องานติดตั้งและปรับปรุงสถานที่ในแต่ละส่วนแล้วเสร็จตามสัญญา และจำเลยได้ตรวจสอบถูกต้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งวดที่สี่จ่ายให้ในส่วนที่เหลือทั้งหมดเมื่อจำเลยตรวจรับทดลองเป็นที่เรียบร้อยถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาทุกประการและจำเลยรับไว้ใช้งานแล้วตามสัญญาซื้อขายชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมการติดตั้ง เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.1 โจทก์ที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการรับเงินค่างวดล่วงหน้าของโจทก์ที่ 1ในวงเงิน 30,145,115.80 บาท เอกสารหมาย จ.7 ภายหลังทำสัญญาโจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาซื้อขายฯ เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.1 จากจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินเอกสารหมาย ล.43 และได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวถึงจำเลยแล้วตามหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงิน เอกสารหมาย ล.44 จำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาหลายครั้งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 88,529,506.70 บาท ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย ล.75 จำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินงวดที่สองและงวดที่สามรวมจำนวน 15,414,909.50 บาท
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ที่ 2 ร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ได้หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ตามสัญญาซื้อขายฯ ข้อ 9 วรรคสี่ ค่าปรับและค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 มี 2 ประการ ซึ่งต้องบอกเลิกสัญญาทั้งสิ้นจึงจะเรียกได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่า จำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้โดยไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและการจัดซื้อไม่ได้ทำภายในกำหนด 6 เดือน กับอุปกรณ์ที่จำเลยซื้อไม่ใช่ประเภทและรุ่นเดียวกับที่สั่งซื้อจากโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ดังนี้จึงไม่มีเงินจำนวนใด ๆ ที่โจทก์ที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์ที่ 1 ต่อจำเลยเป็นเงินไม่เกิน 14,833,710 บาท หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าว ซึ่งจำเลยมีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับและหรือค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ที่ 1 ได้แล้ว โจทก์ที่ 2 ยอมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ชำระก่อน ดังนั้นเมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายฯ แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าปรับและค่าเสียหายตามสัญญาซื้อขายฯ ข้อ 9 และข้อ 10 ตามลำดับจากโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยจะมีสิทธิฟ้องโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ได้หรือไม่ต้องพิจารณาเพียงว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์ที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัดแล้วจำเลยย่อมมีอำนาจฟ้องโจทก์ที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 แม้จำเลยไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายฯ ต่อโจทก์ที่ 1 ก็ตาม ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปมีว่า สิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีต่อโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายฯ ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินคือภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 เมื่อโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายฯ ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามสัญญาซื้อขายฯ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเวลาตามสัญญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกให้โจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันโจทก์ที่ 1 ต่อจำเลยชำระหนี้ได้แต่นั้นตามมาตรา 686 อันเป็นวันที่จำเลยอาจบังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้นมิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันต่อจำเลยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อนับถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ที่จำเลยฟ้องในสำนวนหลังยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ที่ 1 ต้องใช้ค่าเสียหายในราคาอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ที่จำเลยซื้อมาใช้งานแทน 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน238,604,804.07 บาท หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและมิได้จัดซื้อภายในเวลา 6 เดือน ตามสัญญาซื้อขายฯ ข้อ 8วรรคสอง และอุปกรณ์ที่ซื้อไม่ใช่ประเภทหรือรุ่นเดียวกับที่ซื้อจากโจทก์ที่ 1ก็ตาม แต่ตามข้อ 10 โจทก์ที่ 1 ตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดแก่จำเลยโดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วย เห็นว่า จำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายฯต่อโจทก์ที่ 1 ทั้งจำเลยฟ้องขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์ตามสัญญาซื้อขายฯ แล้ว หากให้โจทก์ชำระค่าเสียหายในราคาอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ที่จำเลยซื้อมาใช้งาน ก็จะเป็นการให้ค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนกับคำขอบังคับให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายฯดังกล่าว จึงกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์ตามสัญญาให้แก่จำเลย หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาก็ให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนอุปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ในอาคารของจำเลยออกไปและคืนเงินที่ได้รับไปแล้วจำนวน 88,529,506.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องสำนวนหลัง จนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายรวม 28,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องสำนวนหลังจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จแก่จำเลยให้โจทก์ที่ 2 ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายในเงินจำนวน14,833,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share