คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองมีไม้สักแปรรูปและไม้ประดู่กับไม้รังแปรรูปไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกจำนวนและปริมาตรของไม้ทั้งสองชนิดต่างหากจากกันก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นความผิดตามมาตรา 48,73 แห่ง พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 บทมาตราเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2530 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้สักแปรรูปจำนวน 25 แผ่น ปริมาตรา 0.110ลูกบาศก์เมตร และมีไม้ประดู่แปรรูปจำนวน 24 แผ่น ปริมาตร 0.733ลูกบาศก์เมตร กับไม้รังแปรรูปจำนวน 168 แผ่น ปริมาตร 1.331ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้นปริมาตร 1.454 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2525 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบของกลาง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73, 74พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน ของกลางริบ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 48และ 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 นั้นประสงค์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานมีไม้สักไว้ในความครอบครองกระทงหนึ่งต่างหากจากการมีไม้ชนิดอื่น ๆ เพราะไม้สักไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใดก็เป็นความผิดส่วนไม้ชนิดอื่น ๆ ต้องมีจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีไม้สักและไม้ประดู่กับไม้รังไว้ในความครอบครองโดยแยกจำนวนและปริมาตรของไม้สักไว้จำนวนหนึ่ง และของไม้ประดู่กับไม้รังไว้อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีไม้สักแปรรูปและไม้ประดู่กับไม้รังแปรรูปไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกจำนวนและปริมาตรของไม้ทั้งสองชนิดต่างหากจากกันก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นความผิดตามมาตรา 48, 73 บทมาตราเดียวกันการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดสองกรรมดังที่โจทก์ฎีกาไม่”
พิพากษายืน

Share