คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมดพร้อมไถ่ถอนจำนอง ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แสดงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา กู้เงินแล้ว เมื่อสัญญากู้เงินสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์จะอาศัย ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อที่โจทก์มีสิทธิเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ผิดเงื่อนไขได้ถึงร้อยละ 24 ต่อปี มาปรับคิดดอกเบี้ยกับจำเลยในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นหาได้ไม่ เพราะสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสิ้นผล ไปก่อนแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 368,371.21 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 289,568.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และขอให้บังคับจำนอง
จำเลยยื่นคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ยอดหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ถูกต้อง และจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยไม่ถึงจำนวน 78,802.38 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 24 ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่โจทก์คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จนถึงอัตราร้อยละ 24 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน พิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน 289,568.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 217 (ที่ถูกเลขที่ 5187 เลขที่ดิน 217) ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2538 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 300,000 บาท จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราลอยตัวตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันทำสัญญากู้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จำเลยต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ๆ ละไม่ต่ำกว่า 7,300 บาท เริ่มผ่อนชำระงวดแรกวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 27 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบ แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนดยอดหนี้ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2539 จำเลยค้างชำระเงินต้นจำนวน 289,568.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2540 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้อง วินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปีของต้นเงิน 289,568.83 บาท นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์ว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมดพร้อมไถ่ถอนจำนองภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.10 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 17 กันยายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.11 แสดงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากู้เงินแล้ว ตามหนังสือดังกล่าวเมื่อสัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์สิ้นสุดลงแล้ว โจทก์จะอาศัยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อลงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ที่โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ผิดเงื่อนไขได้ถึงร้อยละ 24 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 มาปรับคิดดอกเบี้ยกับจำเลยในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นหาได้ไม่เพราะสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสิ้นผลไปก่อนแล้ว โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share