คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14679/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดโดยกำหนดวันนัดขายทอดตลาดไว้ถึง 2 นัด และยังมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้วางเงินค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดอีกด้วย แต่โจทก์เองไม่วางเงินกลับยื่นคำร้องขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดออกไป 3 เดือน แสดงว่าโจทก์ยังไม่ประสงค์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทรัพย์พิพาท ดังนั้นวันนัดที่กำหนดไว้จึงเป็นการเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดและการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า งดการขายทอดตลาดไว้ 3 เดือน รอโจทก์แถลงความประสงค์ จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว หากโจทก์ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปเนื่องจากระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้วตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 294 วรรคหนึ่ง โจทก์จะอ้างว่าเป็นความผิดหรือความบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ตามที่โจทก์ขอให้งดการบังคับคดีไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปทันทีโดยโจทก์ไม่จำต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใหม่ให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปอีกหาได้ไม่เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะแถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป จะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ โจทก์มิได้แถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดจนกระทั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้โจทก์แถลงความประสงค์ในการบังคับคดีและวางค่าใช้จ่ายเพิ่ม โจทก์จึงวางเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มและแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไป การที่โจทก์ปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 11 ปีเศษ เช่นนี้ ความล่าช้าในการบังคับคดีจึงเป็นความผิดหรือบกพร่องของโจทก์เอง หาใช่เป็นความผิดหรือบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 101,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 กันยายน 2530) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 700 บาท จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 72707 ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีชื่อนายสุรชัยหรือสมภณ สามีจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ผู้รับโอนสิทธิการรับจำนองทรัพย์ที่ยึดเป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 2,080,000 บาท แต่ไม่พอชำระหนี้จำนองที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น จึงไม่เหลือเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าวางทรัพย์ต่าง ๆ แก่โจทก์
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ตามความประสงค์ของโจทก์และมีหมายแจ้งให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อประกาศขายทอดตลาดตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 และหมายแจ้งโจทก์วางเงินอีกหลายครั้ง แต่โจทก์กลับแถลงขอให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน จนกระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2555 โจทก์จึงแถลงความประสงค์ขอให้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไปพร้อมวางเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี นับเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่โจทก์เพิกเฉยไม่วางเงินค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ส่วนการปิดประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดไว้ ณ สถานที่ราชการ สถานที่ชุมนุมชน ที่ตั้งทรัพย์ และสถานที่จำหน่ายทรัพย์สิน ตามระเบียบและคำสั่งของกรมบังคับคดีแล้ว การบังคับคดีขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีตกอยู่ในความรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ ความปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2530 ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 72707 ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีชื่อนายสุรชัยหรือสมภณ สามีจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อขายทอดตลาด วันที่ 23 มีนาคม 2543 และวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทแต่ไม่สามารถขายได้เนื่องจากราคาต่ำไปและโจทก์คัดค้านราคา ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 และวันที่ 21 มิถุนายน 2543 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายแจ้งแก่โจทก์ให้วางเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อประกาศขายทอดตลาดต่อไป โจทก์มิได้วางเงินแต่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 โจทก์กลับแถลงขอให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ 3 เดือน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า งดการขายทอดตลาดไว้ 3 เดือน รอโจทก์แถลงความประสงค์ เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดโดยกำหนดวันนัดขายทอดตลาดไว้ถึง 2 นัด คือวันที่ 23 มีนาคม 2543 และ 4 พฤษภาคม 2543 และยังมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้วางเงินค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดอีกด้วย แต่โจทก์เองไม่วางเงินกลับยื่นคำร้องขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดออกไป 3 เดือน แสดงว่าโจทก์ยังไม่ประสงค์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทรัพย์พิพาท ดังนั้นวันนัดที่กำหนดไว้จึงเป็นการเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดและการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า งดการขายทอดตลาดไว้ 3 เดือน รอโจทก์แถลงความประสงค์ จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 (3) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว หากโจทก์ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปเนื่องจากระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้วตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 294 วรรคหนึ่ง โจทก์จะอ้างว่าเป็นความผิดหรือความบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ตามที่โจทก์ขอให้งดการบังคับคดีไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปทันทีโดยโจทก์ไม่จำต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใหม่ให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปอีกหาได้ไม่เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะแถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป จะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ โจทก์มิได้แถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดจนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้โจทก์แถลงความประสงค์ในการบังคับคดีและวางค่าใช้จ่ายเพิ่ม โจทก์จึงวางเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มและแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 การที่โจทก์ปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 11 ปีเศษ เช่นนี้ ความล่าช้าในการบังคับคดีจึงเป็นความผิดหรือบกพร่องของโจทก์เอง หาใช่เป็นความผิดหรือบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งแรกและครั้งที่สองเพียงพอแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำต้องให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีอีก กับฎีกาที่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ปิดประกาศการขายทอดตลาด ณ สถานที่ทรัพย์ตั้งอยู่นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share