คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องร่วมกับผู้ตายทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกันแสดงเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง หากว่าฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ กรณีจึงถือได้ว่าเงื่อนไขดังกล่าวนั้นเป็นอันไม่มีเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1707 มิใช่กรณีตามมาตรา1706 (3) ดังนี้ ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้หาเป็นโมฆะไม่
พินัยกรรมที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้นและผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ขณะนั้น จึงเข้าแบบพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารฉบับเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใด และก็มิไช่การพนันขันต่อเพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลได้ตามกฎหมายในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646
เมื่อผู้ร้องลงชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรม มิได้ลงชื่อในฐานะพยานทั้งมิได้มีข้อความระบุว่าเป็นพยานต่อท้ายลายมือชื่อของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1671วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องเป็นพยานในพินัยกรรม ดังนั้น พินัยกรรมหาได้ตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย มาตรา 1 05 ไม่
แม้ผู้ร้องจะมีอายุมากแล้ว และเคยเข้ารับการรักษาตัวที่โรง-พยาบาล แต่ปรากฏว่าผู้ร้องมีสติสัมปชัญญะดี มีความรู้สึกผิดชอบ มีความสามารถที่จะดำเนินการทำนิติกรรมใด ๆ ได้ และผู้ร้องก็ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ทั้งผู้ร้องก็เป็นทายาทโดยพินัยกรรมตาม มาตรา 1603 วรรคสาม ได้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตาย เท่ากับผู้ตายตัดมิให้ผู้คัดค้านได้รับมรดกของตน แม้ผู้คัดค้านจะมีสิทธิในสินสมรสร่วมกับผู้ตายและเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ผู้คัดค้านไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับชายอื่นขณะที่ยังไม่ขาดจากการสมรสกับผู้ตาย ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

Share