คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อการก่อสร้างอาคารในต่างจังหวัดเสร็จลง โจทก์ต้องเดินทางกลับมาประจำบริษัทจำเลยเพื่อรอฟังคำสั่งให้ไปควบคุมงานในโครงการ อื่นต่อไประหว่างรองานที่บริษัทจำเลย โจทก์คงได้รับเงินเดือนเพียง อย่างเดียวไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเลี้ยงจึงเป็นเงินตอบแทน ในการทำงานเฉพาะในเวลาที่โจทก์ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด เท่านั้น มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงาน ปกติของวันทำงานอันจะถือเป็นค่าจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ระหว่างรองานอยู่ที่บริษัทจำเลย จึงไม่ต้องนำเบี้ยเลี้ยงมารวม ค่าชดเชยด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานประจำสนาม โจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมันรถและค่าพาหนะเป็นประจำและมีจำนวนแน่นอน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โดยไม่นำเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมันและค่าพาหนะมารวมด้วยจึงไม่ถูกต้อง ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์เฉพาะวันที่โจทก์เดินทางไปทำงานต่างจังหวัดนอกเขตกรุงเทพฯ เท่านั้นซึ่งเป็นการไม่แน่นอน เบี้ยเลี้ยงจึงไม่ใช่ค่าจ้าง ค่าน้ำมันและค่าพาหนะมิได้เป็นจำนวนแน่นอนเป็นไปตามที่โจทก์ได้จ่ายจริง จึงไม่ใช่ค่าจ้างเช่นกัน โจทก์ได้รับค่าชดเชยถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินเบี้ยเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างต้องนำไปรวมคำนวณค่าชดเชยด้วย แต่ค่าน้ำมันและค่าพาหนะไม่ใช่ค่าจ้างไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ พิพากษาให้จำเลยชำระในส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยสิบสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงจำเลยจะจ่ายให้โจทก์ภายใต้เงื่อนไขเมื่อโจทก์ออกไปทำงานต่างจังหวัดซึ่งโจทก์ทุกคนได้ทราบแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์แต่ละคนเข้าทำงานจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยถึงสภาพการทำงาน อีกทั้งระเบียบการจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงของจำเลยจะจ่ายให้เฉพาะในวันที่ไปทำงานต่างจังหวัดซึ่งระเบียบนี้โจทก์และจำเลยทุกคนได้ถือปฏิบัติตลอดมาโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ เงินเบี้ยเลี้ยงจึงมิใช่ค่าจ้าง จากข้อเท็จจริงที่โจทก์แต่ละคนกลับมาประจำเพื่อรองานต่อไปตามคำสั่งของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้รับเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นำเงินค่าเบี้ยเลี้ยงไปรวมเป็นค่าจ้างได้อัตราค่าจ้างสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนได้รับนั้นโจทก์และจำเลยรับกันว่าขณะที่เข้ามารองานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในช่วงถึงสามเดือนสุดท้ายก่อนเลิกจ้าง โจทก์ได้รับแต่เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นค่าจ้างตามปกติที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น ตามกฎหมายโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 6 เท่าของอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายซึ่งโจทก์แต่ละคนได้รับเรียบร้อยแล้ว พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่าระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่ต่างจังหวัด จำเลยจ่ายเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงและเงินอื่น ๆ ให้โจทก์ เมื่อการก่อสร้างอาคารในต่างจังหวัดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์คนใดเสร็จ โจทก์คนนั้นต้องเดินทางมาประจำบริษัทจำเลย (อยู่ในกรุงเทพมหานคร) เพื่อรอฟังคำสั่งจากจำเลยให้ไปควบคุมการก่อสร้างในต่างจังหวัดตามโครงการอื่นต่อไป ระหว่างรองานที่บริษัทจำเลยนั้น โจทก์คงได้รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ได้กลับมาประจำอยู่ที่บริษัทจำเลยในต้นเดือนมกราคม 2530 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 1ถึงที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2530 ส่วนโจทก์ที่ 9 ที่ 10จำเลยเลิกจ้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2529 แต่ก็เป็นการเลิกจ้างระหว่างที่เข้ามารองานอยู่ที่บริษัทจำเลยเช่นกัน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ทั้งสิบจึงมีเฉพาะเงินเดือนเนื่องจากช่วงที่ถูกเลิกจ้างทุกคนไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเลี้ยงนี้จึงเป็นเงินตอบแทนในการทำงานเฉพาะในเวลาที่โจทก์ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสิบได้ย้ายเข้ามาประจำยังบริษัทจำเลยค่าเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์ได้รับจึงเป็นอันระงับ ค่าเบี้ยเลี้ยงจึงมิใช่เงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้โจทก์แต่ละคนผู้เป็นลูกจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานระหว่างที่โจทก์ทั้งสิบมาประจำอยู่ที่บริษัทจำเลย อันจะพึงถือว่าเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยอีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยโดยมิได้นำเงินเบี้ยเลี้ยงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างมาคำนวณด้วยไม่ถูกต้องและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบ โดยนำเบี้ยเลี้ยงมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share