คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนชื่อบุคคลผู้ไม่มีสิทธิออกจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)นั้น เห็นได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้มีชื่อในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ว่าใครมีสิทธิเหนือที่ดินดีกว่ากัน เป็นคดีมีข้อพิพาทแล้ว จึงต้องเริ่มคดีโดยทำเป็นคำฟ้องต่อศาล

ย่อยาว

คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางฉ่ำมารดาซึ่งตายเมื่อต้น พ.ศ. 2503 ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 1 แปลง ราคา 20,000 บาทให้ผู้ร้องผู้ร้องปกครองตลอดมา เมื่อ 18 มิถุนายน 2505 ผู้ร้องได้ขอให้เจ้าพนักงานอำเภอบัวใหญ่ลงทะเบียนเป็นชื่อผู้ร้องแต่เจ้าพนักงานไม่อาจจดทะเบียนให้ได้ เพราะนายไพรัชน้องผู้ร้องได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) แสดงว่าเป็นเจ้าของ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะที่ดินมิใช่ของนายไพรัช นางฉ่ำให้นายไพรัชไปแจ้ง ส.ค.1 แทนเท่านั้นนายไพรัชตายระหว่าง พ.ศ. 2502 จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเพิกถอนชื่อนายไพรัชออกจาก ส.ค.1 และแสดงว่าที่ดินดังกล่าวผู้ร้องเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้อง เพราะในฐานะผู้ร้องไม่มีเหตุจะใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 ก็ไม่ให้อำนาจผู้ร้องมาร้องต่อศาลในกรณีเช่นนี้

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีมีข้อโต้แย้ง ผู้ร้องจึงมีเหตุที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แต่เป็นคดีมีข้อพิพาท จะต้องเริ่มคดีโดยทำเป็นคำฟ้อง แต่ผู้ร้องเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องจึงไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้

ผู้ร้องฎีกาว่า คดีของผู้ร้องมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิในทางศาลต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จำต้องมีกฎหมายสนับสนุนจึงจะรับคำร้องก็ดี ก็มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ให้อำนาจศาลแล้ว หากจะให้รอจนกว่าจะมีข้อพิพาทกับทายาทนายไพรัชนั้น หากทายาทนายไพรัชไม่เกี่ยวข้อง ข้อพิพาทไม่มีเลย มิต้องรอไปอย่างไม่มีกำหนดหรือผู้ร้องจะโอนจะจดทะเบียนเกี่ยวกับกิจการไฉนจะทำได้ จึงขอให้รับคำร้องไว้พิจารณา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ที่ดินรายนี้เดิมเป็นของนางฉ่ำ นางฉ่ำตาย เป็นมรดกตกได้แก่ผู้ร้อง และนางฉ่ำให้นายไพรัชไปแจ้งการครอบครอง แต่นายไพรัชกลับไปแจ้งเป็นของนายไพรัชเอง เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้นั้น เป็นการอ้างว่านายไพรัชไม่มีสิทธิเหนือที่ดินรายนี้แต่นายไพรัชกลับไปแจ้งเป็นของนายไพรัชเอง เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้นั้น เป็นการอ้างว่านายไพรัชไม่มีสิทธิเหนือที่ดินรายนี้ แต่นายไพรัชกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะทำให้เจ้าของที่ดินรายนี้เสียหาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิจะเรียกให้นายไพรัชหรือผู้รับมรดกของนายไพรัชเพิกถอนการแจ้งการครอบครองรูปคดีของผู้ร้องจึงแสดงว่ามีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ร้องกับนายไพรัชว่า ใครจะเป็นผู้มีสิทธิเหนือที่ดินรายนี้เกิดขึ้นแล้ว หาใช่เป็นคดีไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่มีข้อพิพาท ซึ่งจะต้องรอจนกว่าจะมีข้อโต้แย้งมีข้อพิพาท ดังผู้ร้องฎีกาไม่ ส่วนข้อที่ผู้ร้องกล่าวว่าหากทายาทนายไพรัชไม่เกี่ยวข้อง ข้อพิพาทไม่มีเลยนั้น ก็แสดงว่าเขายินยอมที่จะเพิกถอนการแจ้งการครอบครองให้แล้ว จึงเป็นกรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้งที่ผู้ร้องจะเสนอคดีของตนต่อศาลได้คดีของผู้ร้องนี้ชั้นเดิมมิใช่เป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท และไม่ใช่คดีที่จะเสนอได้โดยทำเป็นคำร้องขอแต่อย่างใด เมื่อคดีของผู้ร้องเป็นคดีอันมีข้อพิพาท ผู้ร้องก็จะต้องเริ่มคดีโดยยื่นเป็นคำฟ้องต่อศาลฎีกาของผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลล่าง

พิพากษายืน

Share